Skip to main content

ก่อนหน้านี้เคยเขียนเอนทรี่พูดถึง ดวงดาวที่อบอุ่นและอ่อนโยน สึยุซากิ มาฮิรุ ไปแล้ว… เว้นช่วงกันไปนานพอสมควร ก็มาถึงคิวของอีกสองตัวละครจากซีรีส์ Shoujo☆Kageki Revue Starlight อย่าง ฮานายางิ คาโอรุโกะ กับ อิสุรุกิ ฟุตาบะ บ้างค่ะ ข้อมูลของสองคนนี้มีส่วนที่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงกันค่อนข้างเยอะ (มีความกันและกันสูงมาก) เลยเขียนรวมกันในเอนทรี่เดียวกันไปเลย วอนอย่าเข้าใจผิดว่าขี้ชิปนะค—–

เอนทรี่วิเคราะห์ตัวละครใดๆ ภายในเครือข่ายถังเรียบเรียงขึ้นด้วยทัศนคติ รสนิยม และประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ต้องปักใจเชื่อทั้งหมดก็ได้ค่ะ แต่ถ้าอ่านแล้วชอบตัวละครที่เคยเขียนถึงกันมากขึ้น หรือสนใจอยากหาความรู้ต่อยอดในหลายๆ ด้าน เราเองจะดีใจมากเลยล่ะ!

 

“นักเรียนรุ่นที่ 99 เลขที่ 22 โรงเรียนดนตรีเซโช… ฮานายางิ คาโอรุโกะ มาค่า~”

Hanayagi Kaoruko’s Profile
ชื่อ ฮานายางิ คาโอรุโกะ (花柳香子, Hanayagi Kaoruko)
นักพากย์ อิโต้ อายาสะ (伊藤 彩沙, Ito Ayasa ทวิตเตอร์ @ayasa_ito)

นักพากย์จากค่ายฮิบิกิ ค่ายที่แฟนประจำ (?) ของเครือข่ายถังคงจะคุ้นชื่อกันไม่มากก็น้อย อยู่ในแทบทุกโปรเจกต์ที่บูชิโร้ดเป็นตัวตั้งตัวตี 

วันเกิด 3 มีนาคม
ส่วนสูง ออฟฟิศเชียลยังไม่ระบุ (มีคนคำนวณจากความสูงมาฮิรุไว้ว่าน่าจะประมาณ 155 ซม.)
สีประจำตัว ชมพู #e08696
อาวุธ พัดญี่ปุ่น, นางินาตะ [1] ชื่อ 水仙花 (Suisenka) ที่หมายถึงดอกนาร์ซิสซัส

สมคอนเซปต์ตัวละครก่อนพัฒนาคือ “ผู้หญิงจองหองหลงตัวเองสนใจแต่เรื่องของตัวเอง”

สิ่งที่ชอบ สะสมพัดญี่ปุ่น, สะสมของที่มีกลิ่นหอม (ถุงหอม, น้ำหอม)
สิ่งที่ไม่ชอบ การทำงานบ้าน
ของกินที่ชอบ อันมิตสึ, คอมเปอิโตะ [2], ดากาชิ [3], วากาชิ [4], ขนมหวาน [5]
ของกินที่ไม่ชอบ ต้นหอมญี่ปุ่น
วิชาที่ถนัด รำญี่ปุ่น, ภาษาอังกฤษ (เพราะถ้าจะครองโลกต้องเก่งภาษาอังกฤษ เหตุผลจีเนียสมาก)
วิชาที่ไม่ถนัด พละศึกษา, คิวบู๊

 

“นักเรียนรุ่นที่ 99 เลขที่ 2 โรงเรียนดนตรีเซโช อิสุรุกิ ฟุตาบะ มาค่ะ”

Isurugi Futaba’s Profile
ชื่อ อิสุรุกิ ฟุตาบะ (石動双葉, Futaba Isurugi)
นักพากย์ อิคุตะ เทรุ (生田 輝, Ikuta Teru ทวิตเตอร์ @chichichi430)

นักแสดง งานพากย์อนิเมครั้งแรก นอกจากสตาร์ไลต์แล้วผลงานส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบละครเวทีมากกว่าค่ะ

วันเกิด 17 เมษายน
ส่วนสูง ออฟฟิศเชียลยังไม่ระบุ (มีคนคำนวณจากความสูงมาฮิรุไว้ว่าน่าจะประมาณ 150 ซม. )
สีประจำตัว ม่วง #8c67aa
อาวุธ ดาบไม้, ฮัลเบิร์ด ชื่อ Determination ที่หมายถึง “ความมุ่งมั่น, ความแน่วแน่” ความหมายคล้ายคลึงกับตุ๊กตาดารุมะ
สิ่งที่ชอบ มอเตอร์ไซค์, ดารุมะ,  細かい作業 พวกงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียด ประณีต

ในเกมเหมือนฟุตาบะจะมีโมเดลมอเตอร์ไซค์ด้วย… ไม่แน่ใจว่าหมายถึงต่อโมเดลอะไรพวกนี้หรือเปล่าล่ะค่ะ

สิ่งที่ไม่ชอบ การมีเวลาว่างมากเกินไป
ของกินที่ชอบ เนื้อ, ดากาชิ, คินาโกะแท่ง[6], ของหวาน 
ของกินที่ไม่ชอบ ปลา
วิชาที่ถนัด พละศึกษา, คิวบู๊ พวกที่ต้องขยับร่างกายเยอะๆ
วิชาที่ไม่ถนัด ภาษาอังกฤษ… น้องดูเรียนวิชาการไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่…

มุมเกร็ดความรู้

ลองเอาชื่อภาษาญี่ปุ่นไปเสิร์ชภาพประกอบดูได้นะคะ

  1. นางินาตะ ง้าวญี่ปุ่น มีน้ำหนักเบากว่าง้าวจีน ผู้หญิงสามารถใช้งานได้ 
  2. คอมเปอิโตะ (金平糖) หรือขนมน้ำตาลกรวด เป็นลูกกวาดที่ทำจากน้ำตาล มีประวัติความเป็นมายาวนาน สมัยก่อนผลิตได้ยากจึงเป็นของมีมูลค่าสูง
  3. ดากาชิ (駄菓子) ที่เป็นของโปรดของทั้งฟุตาบะและคาโอรุโกะ… ในฉากย้อนอดีตฟุตาบะเป็นคนคอยซื้อให้ค่ะ ในมังงะโอเวอร์เจอร์คาโอรุโกะเองก็ดูเพิ่งรู้จักร้านอะไรแบบนี้ด้วย หมายถึงพวกขนมญี่ปุ่นดั้งเดิม ราคาถูก เริ่มต้นที่ 10-20 เยน บางชิ้นมีรางวันล่อตาอย่างแถมถูกรางวัลจะแถมชิ้นที่สองด้วย ทำให้เป็นที่ถูกใจของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล่ะ (เธรดขนมดากาชิในตอนหกเพิ่มเติม ที่นี่)
  4. วากาชิ (和菓子) ขนมญี่ปุ่นดั้งเดิม นิยมกินคู่กับน้ำชาหรือใช้เป็นของฝาก ไม่เพียงรสชาติดีแต่ยังพิถีพิถันให้ออกมาหน้าตาหรูหราน่ารับประทานด้วย อันมิสึเองก็นับเป็นวากาชิอย่างหนึ่งเหมือนกัน   
  5. ขนมหวาน ตรงนี้ภาษาญี่ปุ่นคือ 甘い物 หมายถึงพวกขนมรวมๆ อย่างเค้ก ทาร์ตผลไม้ ไอศกรีมต่างๆ แหละค่ะ แต่ดูไม่ค่อยสันทัดเรื่องขนมต่างประเทศกันเท่าไหร่ ในมังงะคาโอรุโกะดูไม่รู้จักพวกพัฟกับชูครีมด้วย ทำเชิงอรรถให้เห็นว่าของโปรดสองคนนี้มีแต่ขนมหลายๆ แบบเฉยๆ ล่ะ (ฮา) 
  6. คินาโกะแท่ง (きな粉棒) เป็นดากาชิอย่างหนึ่ง ประกอบด้วยผงถั่วเหลืองปั้นเป็นแท่ง คลุกด้วยผงถั่วเหลืองอีกที ราคาชิ้นละ 10 เยน อายาสะบอกว่าชื่นชอบสิ่งนี้ (…)

สองคนนี้ชอบขนมกันมากจนมีขนมติดห้องเลยค่ะ

อ่านเพิ่มเติมได้ในเอนทรี่ สิ่งที่ปรากฏอยู่ใน ED ของสตาร์ไลต์ตอนหก

ภาพสองคนนี้จากคลิปโปรโมตอันแรก

ในเวอร์ชันละครเวที – The Live – #1 REVIVAL นั้น ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลของสองคนนี้เท่าไหร่ รู้แค่ว่าเป็น ‘เพื่อนสมัยเด็ก’ ที่ดูตัวติดกันตลอดเวลา ฟุตาบะที่แม้นิสัยออกจะอารมณ์ร้อน (หล่อ) และพูดจาขวานผ่าซาก (หล่อ) แต่ก็ยัง (หล่อ) คอยตามใจคาโอรุโกะที่ดูเป็นคุณหนูๆ อยู่เสมอ (หล่อ) เรียกว่าตามใจมากเกินไปจนหล่อหลอมนิสัยส่วนหนึ่งของคาโอรุโกะให้กลายเป็นเด็กที่ ‘เอาแต่ใจ’ และ ‘เห็นแก่ตัว’ ชนิดที่ค่อนข้างเกินคำว่านิสัยเสียไปมากทีเดียว… 

หล่อจริงๆ นะคะไม่ได้โกหก

และด้วยเวลาที่มีจำกัด มีทั้งส่วนที่เป็น ‘มิวสิคัล’ และเน้นฉาก ‘กวัดแกว่งอาวุธเข้าปะทะกัน’ การคลี่คลายปมความขัดแย้งของตัวละครหลายๆ ตัวในเวอร์ชันละครนี้จึงยังไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมากค่ะ… รู้แค่ว่าระหว่างการเรวิวนั้น ทั้งฟุตาบะกับคาโอรุโกะต่างก็ตระหนักถึงจุดด้อยของตัวเองและพัฒนาตัวละครขึ้นมาได้ล่ะ

โดยหลายๆ อย่างก็ได้มารู้เพิ่มเติมในเวอร์ชันของหนังสือการ์ตูน อนิเม รวมไปถึงเกมที่เพิ่งเปิดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาด้วยค่ะ

 


ครอบครัวของ ‘ฮานายางิ’ กับ ‘อิสุรุกิ’

ฮานายางิ คาโอรุโกะ เป็นหลานสาวของผู้นำตระกูลฮานายางิคนปัจจุบัน เกิดในตระกูลรำญี่ปุ่นเก่าแก่ของเกียวโต (อ้างอิงจากอีเวนต์ฮาโลวีนในเกมเป็นครอบครัวแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ไม่ค่อยพูดถึงเทศกาลของต่างชาติด้วย) พูดติดสำเนียงคันไซ นิสัยออกไปทางคุณหนูเอาแต่ใจนิดๆ (หรือบางทีก็ไม่นิด…) มีคนคอยตามใจแทบทุกอย่างจนเคยตัว ทำให้ทำอะไรไม่ค่อยเป็น จนมาถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เจ้าตัวเริ่มลองทำอะไรหลายๆ อย่างเองดูบ้างล่ะ  

ฐานะร่ำรวย พกแบล็กการ์ด ไม่พกเหรียญสิบเยนติดตัวด้วย

จากมังงะโอเวอร์เจอร์ เล่ม 1 ตอนที่ 5 คาโอรุโกะที่ดูขึ้นรถไฟฟ้าไม่เป็น น่าเป็นห่วงเหลือเกิน

โดยข้อมูลจากแมกซ์คุงบอกว่าในความเป็นจริงนั้นญี่ปุ่นมีสำนักรำหลักๆ อยู่ 5 สำนัก และสำนักฮานายางิเป็นสำนักที่โด่งดังที่สุดด้วยค่ะ ใครอยากดูของจริงสามารถไปเสิร์ชหาด้วยคำว่า 花柳流 ในยูทูปได้ ออกมาประมาณนี้

อย่างที่กล่าวไปว่าตระกูลฮานายางินั้นเป็นครอบครัวญี่ปุ่นเก่าแก่ ทำให้ลักษณะครอบครัวจึงยังยังหลงเหลือระบบ ‘ตระกูลหลัก (บ้านหลัก)’ กับ ‘ตระกูลสาขา (บ้านสาขา)’ อยู่ค่ะ

ซึ่งระบบดังกล่าวเนี่ยแต่เดิมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ตระกูลหลักเกิดปัญหาไร้ทายาทสืบทอดพวกยศฐาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สิน ที่ดิน ไปจนถึงฐานะทางสังคม…โดยจะสืบทอดจากพ่อสู่ลูกชายคนโตเท่านั้น แต่บางทีอาจเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้มีทายาทไม่ได้ อย่างตายเร็ว เป็นหมัน หรืออะไรก็แล้วแต่ คนจากตระกูลสาขามาสืบทอดแทนนั่นแหละค่ะ (แปลว่าผู้นำตระกูลของฮานายางิคนปัจจุบันมีศักดิ์เป็น ‘ปู่’ ของคาโอรุโกะล่ะ)

ถ้าตระกูลหลักมีลูกชายมากกว่าหนึ่งคนก็จะส่งคนที่เหลือไปเป็นผู้นำตระกูลสาขาเพื่อให้ความสัมพันธ์ของตระกูลยังแน่นแฟ้น

เอาง่ายๆ คือ ตระกูลสาขามีตำแหน่งเป็นตัวสำรอง นั่นเอง

ตระกูลสาขา ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติพี่น้องกัน อาจจะเป็นคนใช้ที่อยู่กับครอบครัวมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุจนได้รับความไว้วางใจก็ได้ จากในอนิเมตอนหกทำให้พอจะเดาๆ กันได้ว่า ‘อิสุรุกิเป็นหนึ่งในตระกูลสาขาของฮานายางิ’ ด้วยจุดสังเกตดังต่อไปนี้

ฉากย้อนอดีตช่วงเปิดตอนซูมไปที่ป้ายเป็นเรือนญี่ปุ่นของตระกูล ‘花柳 (ฮานายางิ)’ แล้วมีตัวละครที่น่าจะเป็นแม่ของคาโอรุโกะตะโกนตามหาเจ้าตัว โดยจะมีตัวละครอีกตัวโต้ตอบกันว่า “คุณหนูคาโอรุโกะคะ” “อิสุรุกิฮัง ทางนั้นเป็นยังไงบ้าง” สรุปประโยคนี้ได้ว่า อิสุรุกิมียศต่ำกว่าฮานายางิ หรือก็คือเป็นคนใช้ในเรือนนั่นเอง และมีอิสุรุกิมากกว่าหนึ่งคนอยู่ในบ้านฮานายางิ…!?

ตัวเล็กตัวน้อย มองนานๆ แล้วใจไม่ค่อยดี

หลังจากนั้นก็มีฟุตาบะในวัยเด็กโผล่ออกมา เป็นอีกจุดที่สะกิดใจว่าทำไมฟุตาบะถึงเดินไปมาในบ้านคนอื่นได้หน้าตาเฉยกัน… แปลว่าสองคนนี้อยู่บ้านเดียวกันตั้งแต่เด็กๆ และจะอยู่ด้วยกันตลอดไป อย่างที่บอกไว้ในเนื้อเพลง 花咲か唄 (Hanasaka Uta, บทเพลงของดอกไม้ที่ผลิบาน) “เราสองในวัยเยาว์ต่างเอานิ้วเกี่ยวก้อยกันและสัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป” ค่ะ 

คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่เพราะน่าจะรู้ๆ กันอยู่แล้วด้วยล่ะ จริงๆ ของไทยเองก็มีอะไรคล้ายๆ แบบนี้นะคะ พวกให้ครอบครัวข้ารับใช้อาศัยอยู่ในเรือนด้วย แต่ไม่ถึงขนาดจะกลืนตระกูลให้แน่นแฟ้นแบบนั้นล่ะ 

อิสุรุกิ ฟุตาบะ จะเป็นตัวละครเด็กผู้หญิงที่ใส่ความ Musculine (มีลักษณะของเพศชาย) ลงไปกว่าคนอื่นๆ ในซีรีส์พอสมควรล่ะ ทั้งเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม หรือพวกการแสดงออกอย่างวิธีการพูดหรือแม้แต่ท่านั่ง ท่าเดิน… แต่ข้อมูลที่มีจนถึงปัจจุบันไม่ได้พูดถึงปมความขัดแย้งภายในตัวละครด้านนี้เป็นพิเศษล่ะค่ะ มีแค่พูดถึงใน OVA ที่กลุ้มใจเรื่องส่วนสูงกับหน้าอกของตัวเองเพราะว่า “รูปร่างแบบนี้ได้เล่นแต่บทเด็กเล็กๆ ไม่ก็บทเด็กผู้ชายนี่สิ” แล้วฮิคาริร่ายบทละครยาวเหยียดปลอบใจโดยยกตัวอย่างประกอบแล้วว่าแม้จะตัวเล็กก็ยังเปล่งประกายบนเวทีได้

ภาพปกบลูเรย์แผ่น 3 เป็นท่านั่งที่ดูแวบเดียวก็รู้ว่าใคร Feminine ใคร Musculine…

ในมังงะโอเวอร์เจอร์ตอนที่ทั้งสองคนโดนทักว่า ‘สนิทสนมกันดีนะ’ คาโอรุโกะบอกว่า “เป็นเหมือนผู้ติดตามมากกว่า” ส่วนฟุตาบะบอกว่า “เป็นเหมือนคนในครอบครัวมากกว่า” ล่ะค่ะ 

จากมังงะโอเวอร์เจอร์ เล่ม 1 ตอนที่ 4 ฟุตาบะตอบมายะ ส่วนคาโอรุโกะตอบคาเรน

เพราะอย่างนั้นสถานะของฟุตาบะจึงไม่ใช่แค่เป็น ‘เพื่อนสมัยเด็ก’ แต่เป็นทั้ง ‘คนในครอบครัว’ และ ‘ผู้ติดตาม’ ของคาโอรุโกะด้วยค่ะ ชนิดที่ว่าทำให้แทบทุกอย่าง ถ้าไม่มีฟุตาบะแล้วทำอะไรแทบไม่เป็นเลย (เป็นบทแนะนำตัวที่นักพากย์เองก็เน้นบ่อยมากช่วงโปรโมตแรกๆ ด้วย) ถ้าจำไม่ผิดมีตอนที่คุยกับคลอดีนว่า ‘สำหรับฟุตาบะแล้วคาโอรุโกะเป็นคนสำคัญ ส่วนสำหรับอีกฝ่ายตัวเองคือคนที่ต้องพึ่งพา’ ด้วยล่ะ

ฉากย้อนอดีตระหว่าง ‘เรวิวแห่งความสิ้นหวัง’ จากมังงะ SMGO เล่ม 2 ไว้ถ้ามีภาพชัดๆ กว่านี้จะมาแก้เพิ่มทีหลังนะคะ (ฮา)

อันนี้เป็นเกร็ดความรู้นิดหน่อย… ปกติทางญี่ปุ่นจะเปิดเทอมช่วงเดือนเมษายน และเกณฑ์การเข้าเรียนประถมจำเป็นต้องให้เด็กอายุครบหกขวบในวันเปิดเทอมเสียก่อน ขาดไปแม้แต่วันเดียวก็ไม่ได้ แปลว่าถ้าฟุตาบะกับคาโอรุโกะเกิดปีเดียวกัน ฟุตาบะที่เกิดกลางๆ ค่อนมาทางปลายเดือนเมษายนจะยังอายุไม่ถึงเกณฑ์เข้าเรียนค่ะ เพราะงั้น ฟุตาบะจะเกิดก่อนคาโอรุโกะเกือบปี เลยล่ะ บวกกับที่เจ้าตัวสอบใบขับขี่ตอนเข้าเรียนที่เซโชปีแรกด้วย เพราะสอบใบขับขี่มอเตอร์ไซค์จำเป็นต้องอายุ 16 ปีขึ้นไปค่ะ

ส่วนนี่คือมอเตอร์ไซค์ของฟุตาบะค่ะ เลขทะเบียน 88-28

เห็นคนญี่ปุ่นเดาว่าคงมาจากการเล่นคำ 88 = 花 (hana) 柳 (yagi) นามสกุลของคาโอรุโกะ กับ 28 ที่อ่านว่า futa+ba ตรงตัว (เลข 8 ภาษาญี่ปุ่นสามารถอ่านได้ทั้ง ha, ya, ba)

ใจขี้ชิปบอกว่าให้พิมพ์ว่านี่มันไม่ใช่เพื่อนกันแล้ว แต่ใจวิชาการบอกว่าความสัมพันธ์ของสองคนนี้มันบียอนด์ Romantic Relationship ไปไกลมาก ถ้ายึดตามทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก คือมี Intimacy (ความรู้สึกใกล้ชิด ผูกพัน) กับ Commitment (คำสัญญา) แล้วแน่ๆ ล่ะค่ะ ออกมาเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Companionate Love ซึ่งความรักชนิดนี้ไม่ได้เกิดแค่กับคนรัก แต่เกิดกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่วางแผนในอนาคตร่วมกันได้เช่นกัน

ข้อมูลออฟฟิศเชียลไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ก็จริง แต่ในคิสึนะสตอรี่ของคาโอรุโกะ 4 ดาวใบฮาโลวีนจะพูดถึงตอนที่คนของตระกูลฮานายางิยกพวกมาหาคาโอรุโกะที่โตเกียว แต่ฟุตาบะไม่ได้ตามไปด้วยเพราะคาโอรุโกะอยากแสดงให้พวกอาจารย์เห็นว่าตัวเองเติบโตขึ้นแล้ว โดนรุมเร้าถามว่า “คุณหนูคะ” “คุณหนูเป็นยังไงบ้าง” “คุณหนูคาโอรุโกะสบายดีไหม” จนน้องหมดสภาพกลับหอไปให้ฟุตาบะนวดเท้าเยียวยา คิดว่าความสัมพันธ์ของบุคคลเหล่านั้นคือคนรับใช้คนอื่นในตระกูลฮานายางิและอาจารย์สอนรำของคาโอรุโกะ แต่ไม่ได้ถึงขนาดใกล้ชิดกับฟุตาบะแหละ 

ในมังงะที่แปลสแกนอังกฤษแปลชื่อตอนที่พูดถึงการเข้าหอพักโรงเรียนครั้งแรกของสองคนนี้เอาไว้ว่า First Time We Live Together ภาษาญี่ปุ่นเป็น はじめての2人暮らし แปลว่าอาศัยอยู่ด้วยกันแค่สองคนครั้งแรก อันนี้เราคิดว่าน่าจะหมายถึง “ก่อนหน้านี้จะอยู่ด้วยกันมาตลอดแต่นี่เป็นครั้งแรกที่แยกออกมาอยู่หอด้วยกันแค่สองคน” แหละ by. แมกซ์คุง

นอกจากนี้ช่วงแฟลชแบ็กไปตอนมัธยมต้น รวมไปถึงฉาก ‘เรวิวแห่งคำสัญญา’ จะเห็นว่าคาโอรุโกะเป็นคนบอกฟุตาบะว่าตัวเองจะเข้าเรียนที่โรงเรียนดนตรีเซโช เพราะงั้นฟุตาบะต้องตามมาเรียนด้วย เป็นแค่เพื่อนสมัยเด็กไม่น่าจะบังคับให้มาเรียนที่เดียวกันได้ขนาดนั้นล่ะ… ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งใน ปมขัดแย้งภายในตัวละคร สำคัญของฟุตาบะเลยค่ะ

 

จากมังงะโอเวอร์เจอร์ เล่ม 1 ตอนที่ 4 เป็นช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ ยังไม่ค่อยสนิทกับเพื่อนร่วมชั้น

ตัวนักพากย์เองเคยพูดถึงเรื่องราวในตอนเด็กๆ ของสองคนนี้เอาไว้ ว่าคาโอรุโกะเป็นเด็กที่มีบรรยากาศเป็นลูกคุณหนูก็จริง… แต่มีจุดที่ไม่ถูกกับผู้คน เวลามีอะไรจะคอยวิ่งมาหลบหลังฟุตาบะอยู่เสมอ ในมังงะโอเวอร์เจอร์ตอนเข้าปีหนึ่งแรกๆ ก็ยังเป็นอยู่ค่ะ ฟุตาบะก็คอยแอบไปบอกคนอื่นๆ ให้ช่วยสนิทสนมกับคาโอรุโกะล่ะ มีแอบมองห่างๆ อย่างห่วงๆ ว่าเข้ากับเพื่อนได้ไหมด้วย เพราะอยากให้เจ้าตัวทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง… แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเผลอตามใจมากไปอยู่ดีค่ะ!

จากมังงะโอเวอร์เจอร์ เล่ม 1 ตอนที่ 4

 


เรวิวแห่งคำสัญญา ‘บทเพลงแห่งดอกไม้ผลิบาน’

“…พอบันทึกเสียงท่อนที่บอกว่า “ฟุตาบะงี่เง่า!” “คาโอรุโกะ ยายคนเห็นแก่ตัว!” ก็คิดขึ้นมาว่านี่มันเหมือนที่เราทะเลาะกันเมื่อสัปดาห์ก่อนเลยนะล่ะค่ะ (หัวเราะ)”

อิคุตะ เทรุ, ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่แถมมากับบลูเรย์แผ่นแรก

(อยากใส่มาเฉยๆ ทุกคนต้องได้รับรู้เรื่องนี้)

 

“เราเหนื่อย วันๆ มีแต่ซ้อมซ้อมซ้อมซ้อม…”

“บอกว่าอยากให้ผลิบานเป็นดอกไม้ที่งดงาม แต่ดอกไม้น่ะจำเป็นต้องรับแสงแดดเพียงพอกับดื่มน้ำอร่อยๆ ด้วยไม่ใช่หรือไง”

“เราตัดสินใจแล้วค่ะ ว่าจะไปอยู่กับครอบครัวที่ ‘พูดชมเชย’ เรามากกว่านี้”

จากช่วงต้นของอนิเมตอน 6 ได้ปูลักษณะตัวละครมาให้เห็นว่าถึงจะเป็นเด็กที่ถึงจะมีคนรับใช้และเพื่อนสมัยเด็กคอยตามใจ แต่ก็ยังโดนครอบครัวเข้มงวดจนน่าอึดอัด… อาจถึงขั้นอยู่ในระดับที่ได้รับการคาดหวังอย่างหนัก ทำออกมาได้ดีก็เท่ากับเสมอตัว เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว แต่ถ้าทำออกมาได้ไม่ดีก็จะโดนตำหนิ ส่วนฟุตาบะที่ซื้อขนมมาให้และคอยฟังอีกฝ่ายระบายความในใจก็ไม่ได้พูดอะไรเป็นพิเศษ แค่อยู่ข้างๆ ฟังเรื่องที่เจ้าตัวพูด และคอยถามว่า

“มีเงินค่าเดินทางหรือเปล่า? ขึ้นรถไฟเป็นไหม?”

“เหรอ จะไปจริงๆ เหรอ”

“จะไปบอกคุณน้ากับนายท่านไว้ก็แล้วกัน”

“น่าเสีย น่าเสียดาย… ฉันอุตส่าห์ ‘ชอบ’ การร่ายรำของคาโอรุโกะแท้ๆ นะ”

ส่วนตัวแล้วเรารู้สึกชอบที่ตัวบทเลือกใช้คำว่า ‘ชอบ’ มากกว่าจะชมว่า ‘ทั้งที่ทำออกมาได้ดีแท้ๆ’ ล่ะค่ะ… สภาพจิตใจของหลายคนเรา (โดยเฉพาะเด็กช่วงวัยประมาณห้าหกขวบ) ถ้าไม่เคยมีใครบอกว่า ‘ชอบ’ สิ่งที่เราทำมาก่อน บอกแค่ว่า ‘ทำออกมาได้ดี’ คำพูดแบบนั้นค่อนข้างมีผลกระทบต่อจิตใจและมีความหมายในระดับหนึ่งเลย จนอาจถึงกับหยิบเอาจุดนั้นมาเป็นที่พึ่งพิงของตัวเองไปด้วยล่ะ

“ถะ ถ้าพูดถึงขนาดนั้นละก็ช่วยไม่ได้นะ… เรากลับไปก็ได้”

เราจะยอมอดทนต่อไปก็ได้

“แต่ฟุตาบะฮังต้องคอยให้กำลังใจเรา คอยชมเราเยอะๆ แล้วก็คอยตามใจซื้อขนมให้เราด้วย

จะให้เป็นแฟนคลับอันดับหนึ่งของเราเลย”

“เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน… เราจะแสดง ‘ส่วนที่เจิดจ้าที่สุดในโลก’ ให้ฟุตาบะฮังเห็นเป็นคนแรกเอง”

อนึ่ง เวอร์ชันละครเวทีฟุตาบะจะชมคาโอรุโกะค่อนข้างเยอะ (มาก…) ประโยคเปิดตัวที่น่าประทับใจ “ช่างเจิดจรัสสมเป็นฮานายางิ คาโอรุโกะ” ยิ่งอันล่าสุดทำอะไรก็หันมาปรบมือให้ตลอดด้วย เอาใจเก่ง–

ในโปรไฟล์แนะนำตัวของคาโอรุโกะตั้งแต่แรกๆ เขียนบอกเอาไว้ว่าความฝันของน้องคือการ “ครองโลก” แต่พอดูในบริบทหลายๆ อย่างแล้ว สามารถเอามาถ่ายทอดออกมาให้สละสลวยได้ประมาณว่า “อยากแสดงความเปล่งประกายบนเวทีของตัวเองให้คนทั้งโลกได้เห็น” “อยากใช้การแสดงจับใจคนทั้งโลก” ค่ะ… ส่วนฟุตาบะในวัยเด็กนั้นเริ่มทำอะไรเพียงเพราะคาโอรุโกะ ‘อยากให้ทำ’ ไม่มีเรื่องที่ตัวเองอยากทำเป็นพิเสษ แค่อยู่เคียงข้างและเชื่อมั่นในคำสัญญาที่อีกฝ่ายเคยให้ไว้ตั้งแต่เด็กๆ เท่านั้น

จนกระทั่งวันที่ถูกบังคับให้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนดนตรีเซโช และค้นพบสิ่งที่แม้แต่ตัวเองก็ทำได้ ค้นพบ ‘ความฝัน’ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมี

“ทำให้คิดว่าฉันเองก็ทำได้เหมือนกัน”  

“อยากทำความฝันตัวเองให้เป็นจริงไปพร้อมๆ กับเฝ้ามองแผ่นหลังของคาโอรุโกะที่กำลังพยายามไปด้วย”

ทว่าพอโตขึ้นคาโอรุโกะกลับเคยชินกับการถูกดูแลและไม่คิดที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ทั้งยังหลงลืมความฝันและคำสัญญา เหลิงไปกับพรสวรรค์ของตัวเองจนไม่ได้ขัดเกลาความสามารถอย่างอื่นเพิ่ม เนื้อเพลง 私たちの居る理由 ท่อนของคาโอรุโกะจะบอกว่าตัวเอง ‘ฉันปรารถนาที่จะไปสู่เวทีถัดไป (私ならば目指せる次のステージへ)’ ค่ะ… เรียนมันน่าเบื่อ เมื่อไหร่จะได้แสดงของจริง เป็นลักษณะนิสัยของคนที่มั่นใจในความสามารถของตัวเองล่ะ ใช้ภาษาเข้าใจง่ายเลยคือพวกมีฝีมือแต่อีโก้สูงล่ะ (อีกแง่คือน้องอยากไปยังเวทีถัดไปเพื่อจะได้แสดงส่วนที่สว่างไสวที่สุดในโลกเร็วๆ หรือเปล่า่นะ…?) ส่วนของฟุตาบะจะพูดถึงความฝันที่ไม่อาจยกให้ใคร ปรารถนาที่จะเปล่งประกายด้วยแสงของตัวเอง ตามตัว ไม่ต้องตีความมาก

คาโอรุโกะมีความคิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และยังไงฟุตาบะก็ต้องคอยตามใจตัวเอง จะขอร้องเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลแค่ไหนก็ต้องยอม (อย่างช่วงก่อนจะเข้าตอนหกมีฉากที่คาโอรุโกะบอกว่า “ถ้าเราต้องสู้กันละก็ฟุตาบะฮังยอมให้เราชนะด้วยนะ” “ยอมยกบทนำให้เราได้ไหม?” โผล่ขึ้นมาหลายครั้งด้วยค่ะ ในละครเวทีก็มีซีนนี้ค่ะ แต่เป็นคาโอรุโกะเหวี่ยงที่ฟุตาบะไม่ยอมยกบทของตัวเองให้) ลืมคำสัญญาที่เคยให้ไว้จนหมด จนต้องโดนด่าเรียกสติแบบในฉาก ‘เรวิวแห่งคำสัญญา’ ในตอนหกค่ะ

หลายครั้งเราจะเห็นว่าคาโอรุโกะ ‘หึงหวง’ ฟุตาบะมาก (ใช่ค่ะ คำนี้แหละ ถูกแล้ว แต่อธิบายแบบเอาฟิลเตอร์ออกมันเกิดขึ้นได้ทั้งกับครอบครัวและเพื่อนนะ ) เธอไม่พอใจทุกครั้งที่อีกฝ่ายไปสนใจคนอื่นมากกว่า อย่างในเวอร์ชันละครเวทีเวลาฟุตาบะเดินเข้าไปหาหรือปรบมือให้เพื่อนคนอื่น คาโอรุโกะเองก็จะสั่งให้หยุด ถ้าเป็นเวอร์ชันมังงะโอเวอร์เจอร์จะมีฉากที่เจ้าโกรธที่ฟุตาบะมีความลับ หายไปไหนมาไหนโดยไม่บอก

นั่งคิด นอนคิด ตะแคงคิดยังไงนิยามที่ครอบคลุมที่สุดน่าจะมีแค่คำว่า “เหมือนแฟนสาวเอาแต่ใจ” ที่ความสัมพันธ์จะค่อนข้างเป็น Toxic Relationship บั่นทอนสุขภาพจิตหน่อยๆ แหละ

สตอรี่ในฉากเรวิวของสองคนนี้ เริ่มจากการที่คาโอรุโกะทดสอบออดิชันของห้องบีไม่ผ่านค่ะ “ก็แค่นั้น ดูไม่ค่อยจับใจ ไม่มีเสน่ห์ดึงดูดเลย” แล้วไม่พอใจที่ฟุตาบะผ่าน จนมาถึงช่วงที่รู้ว่าเจ้าตัวหนีไปซ้อมกับคลอดีนแบบไม่บอกกันล่ะ มีบอกว่า “จะแย่งบทที่ควรจะเป็นของเราไปใช่ไหม” ด้วย เถียงกัน ทะเลาะกันใหญ่โตเหมือนเด็กๆ ไม่ยอมคุยกัน สุดท้ายคาโอรุโกะตัดสินใจจะลาออกจากโรงเรียนเซโชและหนีกลับเกียวโตทั้งอย่างนั้น

ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า กลไกการป้องกันตัวเองทางจิตวิทยา (Defence Mechanism) ที่คาโอรุโกะใช้บ่อยๆ เวลาเผชิญหน้ากับสถานการณ์ตึงเครียด คือ แบบหลีกหนี (Avoidance) ค่ะ คือการหลบหลีกจากวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด… อย่างตอนที่รู้สึกเรียนร่ายรำจนเหนื่อยแล้วหนีออกมา ส่วนของฟุตาบะเป็น แบบเก็บกดเอาไว้ (Repression) ค่ะ เช่นในบทสัมภาษณ์ถามตอบของเด็งเกคิออนไลน์ว่าข้อเสียของตัวเองคือ “ไม่ชอบเรื่องจุกจิก เวลามีอะไรไม่สบายใจก็ออกไปขับมอเตอร์ไซค์ก็พอ” ด้วย หลายๆ ทฤษฏีจะแบ่งหมวดหมู่หรือชื่อเรียกไม่เหมือนกัน และถ้าใช้วิธีใดวิธีหนึ่งติดกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลในแง่ลบต่อจิตใจค่ะ

“แค่แพ้ครั้งเดียวก็ถอดใจแล้วหรือไง?”

“หึ ไม่ต้องสนใจเราหรอก”

ถึงจะพูดแบบนั้นแต่ก็ไปยืนดราม่าซีนตัดพ้ออยู่ที่ชานชาลารถไฟอยู่ดี… มีการได้สติตอนได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ และหวนย้อนถึงคำพูดของมายะที่ให้นึกถึง “คนที่คอยสนับสนุนและทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้” (แฟลชแบ็กเกินเพื่อนมากช่วยด้วย) สุดท้ายฟุตาบะก็มา มีฉากเถียงกันนิดหน่อย จากนั้นก็มีโทรศัพท์นัดหมายสำหรับการ ‘ออดิชัน’ เข้ามาค่ะ

“ถ้าอยากกลับจริงๆ ละก็ไม่มายืนเอ้อระเหยอยู่แถวนี้หรอกน่า”

“ตัวเองที่ดูหอบขนาดนั้นเพราะว่าจะมาตามเรากลับไปใช่ไหมล่ะ?”

ฉาก ‘เรวิวแห่งคำสัญญา’ เป็นตอนที่ตัวละครยังอารมณ์ยังคุกรุ่นจากการทะเลาะกันค่ะ… คำพูดคำจาของคาโอรุโกะค่อนข้างใส่อารมณ์ ทำให้ฟุตาบะมาถึงจุดที่ต้องระบายเรื่องอัดอั้นใจทั้งหมดที่เคยเก็บกดเอาไว้ (Repression) ให้อีกฝ่ายฟัง… ฉากนี้สามารถอ่านเอนทรี่วิเคราะห์เนื้อเพลงควบคู่กันไปได้นะคะ 花咲か唄 (Hanasaka Uta, บทเพลงของดอกไม้ที่ผลิบาน)

“คาโอรุโกะ จำลำดับการสอบเข้าของฉันได้หรือเปล่า…”

“หา?”

“รับนักเรียนทั้งหมดสามสิบคน ฉันได้ที่สามสิบ… ที่โหล่เลยล่ะ!!”

“ละ แล้วเรื่องพรรค์นั้นมันเกี่ยวอะไร…”

“เพราะคาโอรุโกะบอกให้มาเรียนที่นี่ด้วยกัน ฉันถึงได้อ่านหนังสือสอบเข้าแทบตาย…”

“เพราะบอกว่าเดินไปโรงเรียนมันเหนื่อย ฉันถึงได้ไปสอบใบขับขี่มอเตอร์ไซค์มาให้!”

“มีปัญหาทีไรก็ชอบหนีหายไปอยู่เรื่อย แล้วฉันก็ต้องเป็นคนไปตามหาจนเจอทุกที”

“สัญญากันไว้แล้วไม่ใช่หรือไง…

ว่าเธอจะแสดงส่วนที่เปล่งประกายมากที่สุดในโลกให้ฉันเห็นก่อนใครเป็นคนแรก

เพราะงั้นฉันถึงได้ไล่ตามเธอมาตลอดไง!!!”

ไม่ได้โกรธที่พยายามแล้ว ‘ทำไม่ได้’ แต่โกรธที่แค่ทำอะไรพลาดไม่ได้ดั่งใจนิดหน่อยก็ถอดใจง่ายๆ มากกว่า

(ตอนดูสดรู้สึกซาบซึ้งมาก ตอนดูเพื่อเช็กเนื้อหาในเอนทรี่ครั้งล่าสุดก็สงสัยว่าเราดูอะไรอยู่นะ…)

การเปลี่ยนแปลงของตัวละครหลายๆ ตัวในซีรีส์นี้ได้รับผลกระทบแบบ ‘บัตเตอร์ฟรายเอฟเฟกต์’ จากการตัดสินใจเข้าร่วมเรวิวครั้งที่สองของฮิคาริค่ะ… เพราะฮิคาริกลับมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง คาเรนเลยเข้าไปพัวพันกับการออดิชันในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ได้ขัดเกลาทักษะที่หย่อนยานมาตลอด จนหลายๆ คนได้รับผลกระทบและคอยฝึกฝนตัวเองมากขึ้น เรื่องราวของฟุตาบะกับคาโอรุโกะเองก็เปลี่ยนแปลงไปจากที่นานะเคยเห็นด้วยค่ะ ถ้ามีโอกาสเขียนถึงฮิคาริไม่ก็นานะจะเขียนถึงประเด็นนี้ให้ละเอียดขึ้นล่ะ

“คาเรนก็บอกไม่ใช่เหรอ? เหล่านักแสดงต้องขัดเกลาตัวเองในทุกวัน”

“เพราะงั้น ทั้งเทนโด ทั้งคุโระ เลยไม่เคยหยุดทุ่มเทพยายามเพื่อบทนักแสดงนำ…

ทุกคนต่างก็ทำเพื่อขัดเกลาประกายแสงของตัวเองทั้งนั้น”

“ฉันเองก็ยังเป็นแฟนคลับของคาโอรุโกะอยู่นะ! ยังอยากเฝ้ามองแสงสว่างเคียงข้างเธอนะ คาโอรุโกะ!”

นะ นี่มันฉากสารภาพรัก

สุดท้ายเหมือนคำพูดพวกนั้นเรียกสติคาโอรุโกะกลับมา…

“ฟุตาบะฮัง… เติบโตเป็นดอกไม้ที่ผลิบานได้อย่างงดงามแล้วเนอะ”

“เทียบกับเราแล้ว…”

“เราเข้าใจสิ่งที่เทนโดฮังพูดช้าไปแล้วละมั้ง”

“บทเมนแคสต์… ฟุตาบะฮังอาจจะเหมาะกับมันมากกว่าเราก็ได้นะ”

เป็นฉากที่เจ้าตัวยกนางินาตะขึ้นมา ‘เหมือนจะ’ แกล้งยอมแพ้เพื่อพลิกสถานการณ์… ถ้าเป็นฉากเรวิวในละครเวที Revival #1 ช่วงที่คาโอรุโกะกำลังจะแพ้ฟุตาบะ เจ้าตัวบอกว่า

“คิดว่าที่ฟุตาบะฮังซ้อมคิวบู๊มาตลอดก็เพื่อจะปกป้องเราซะอีก”

คิดว่ามีแค่ฟุตาบะฮังที่เป็นพวกเดียวกับเรา… แต่เราคงคิดผิดไปสินะ”

“ถ้าผ่านเราไป (ฟันผ้าคลุมทิ้ง) แล้วจะไปในที่ๆ สูงกว่าได้ละก็เชิญทำตามใจชอบได้เลย”

“คาโอรุโกะ…?”

“ขอโทษ… ที่เอาแต่ใจมาตลอดจนถึงตอนนี้นะ”

หลังจากนั้นฟุตาบะ (ที่ทำหน้าเจ็บปวดแบบหล่อๆ) ก็ตอบว่า “ไม่เอานะ” “ฉันทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก” มาคิดอีกทีก็เริ่มสะกิดใจว่าน้องแกล้งแพ้จริงๆ หรือเปล่า หรือถ้าฉากนั้นปฏิกิริยาฟุตาบะดูยินดีที่จะทอดทิ้งคาโอรุโกะเจ้าตัวจะมีโอกาสถอดใจจริงๆ แบบเดียวกับฉาก ‘เรวิวแห่งคำสัญญา’ ในอนิเม อ้างอิงในเนื้อเพลงจะมีท่อน “ฉันเชื่อไปทั้งใจว่าจะปกป้องฉันไปจนถึงที่สุด” ด้วย หัวข้อเรวิวเองก็เป็น ‘ความสิ้นหวัง จุดที่คาโอรุโกะอยู่ในสถานะที่รู้สึกว่าเชื่อมาตลอดมันผิด หรือโดนมองว่าตัวเองเป็นภาระ แล้วฉากถัดไปมันเป็นฉากที่คาโอรุโกะ (ที่ก้ำกึ่งระหว่างโล่งใจกับเสียใจ) หันหลังแล้วร้องไห้ล่ะค่ะ

“คาโอรุโกะ… ร้องไห้เหรอ?”

“อย่ามาพูดอะไรบ้าๆ นะ…!!”

 

 

 

“ในที่สุดก็มาห้ามกันสักทีนะ…”

“ขอบคุณนะ ฟุตาบะ”

ก่อนหน้านี้ฟุตาบะไม่เคย “ห้าม” คาโอรุโกะเลยค่ะ… อยากทำอะไรก็ทำ แค่จะคอยรับฟัง อยากหนีออกจากบ้าน อยากลาออกจากโรงเรียนกลับเกียวโต เลือกจะให้คาโอรุโกะทำที่ตัวเองต้องการ อะไรก็ได้ที่คาโอรุโกะมีความสุข (ความฝันของฟุตาบะในหน้าแนะนำตัวละครคือ ‘แค่คาโอรุโกะมีความสุขก็พอ’ ล่ะ…) พอพูดประโยคนั้นออกมา เจ้าตัวถึงได้รู้ว่า ‘ในที่สุดก็มาห้ามกันสักที’ นี้บางทีก็หมายถึงคอยดึงสติเวลาเถลไถลออกนอกเส้นทางด้วย

หลังจบเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างตัวละครในฉากเรวิวทั้งสองเวอร์ชัน ทำให้ทั้งฟุตาบะกับคาโอรุโกะมีพัฒนาในทางที่ดีขึ้นล่ะ ฟุตาบะเริ่มมี ‘เป้าหมายของตัวเอง’ ส่วนคาโอรุโกะก็เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับ ‘คำสัญญา’ ที่เคยหลงลืมไป พยายามทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้นด้วย ถือของเองได้แล้ว ออกไปซื้อของเองก็เป็นแล้ว แถมในบทพูดหน้าโฮมของสี่ดาวฟุตาบะใบเจ้าเหมียวรองเท้าบู้ทเจ้าตัวดีใจที่ตัวเองได้บทเมนแคสต์แล้วคาโอรุโกะดูจะคอยเชียร์อยู่ด้วย!

จากนี้ไปคงมีข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อยๆ จะรอติดตามทิศทางในการเติบโตของตัวละครจากสื่อต่างๆ ต่อไปล่ะค่ะ

คอมเมนต์กัน!