“นักเรียนรุ่นที่ 99 เลขที่ 17 โรงเรียนดนตรีเซโช สึยุซากิ มาฮิรุ… มาค่ะ”
Tsuyuzaki Mahiru’s Profile | |
---|---|
ชื่อ | สึยุซากิ มาฮิรุ (露崎まひる, Tsuyuzaki Mahiru) |
นักพากย์ | อิวาตะ ฮารุกิ (岩田 陽葵, Iwata Haruki)
นางแบบ, นักแสดง, เคยมีผลงานถ่ายมิวสิกวิดีโอ บทของมาฮิรุเป็นงานพากย์ครั้งแรก ทวิตเตอร์ @haruki_iwata |
วันเกิด | 4 พฤษภาคม |
ส่วนสูง | 163 เซนติเมตร (ข้อมูลจาก OVA ที่แถมมากับบลูเรย์แผ่นแรก) |
สีประจำตัว | เขียวน้ำทะเล #61bf99 |
อาวุธ | ไม้บาตอง, กระบอง (Love Judgment), |
สิ่งที่ชอบ | การเล่นบาตอง, มาสคอตแมวซุสดาล (スズダル), การดูเบสบอล, สตอรี่ในมายเธียร์เตอร์ของมาฮิรุจะมีที่เจ้าตัวบอกว่า “ว่างจัง ทำความสะอาดห้องดีกว่า” ด้วยนะคะ (ฮา) |
สิ่งที่ไม่ชอบ | เรื่องเศร้า, การเล่นไพ่อีแก่กินน้ำ (← น่าจะเล่นไม่เก่งละค่ะ) |
ของกินที่ชอบ | มันฝรั่ง, |
ของกินที่ไม่ชอบ | ถั่วปากอ้า |
วิชาที่ถนัด | ดนตรี |
วิชาที่ไม่ถนัด | ไม่มีเป็นพิเศษ คิดว่าน่าจะไม่มีวิชาที่ไม่ถนัดแต่ก็ไม่ได้คะแนนสูงว้าวแบบพวกท็อปๆ ล่ะ
แต่เคยบอกว่าถ้าทุกวิชาคือวิชาดนตรีก็คงดี |
สึยุซากิ มาฮิรุ เป็นตัวละครที่ปูมาตั้งแต่ในเวอร์ชันละครเวทีว่าเป็นเด็กผู้หญิงที่มีนิสัยค่อนข้างประหม่าง่ายและขาดความมั่นใจในตัวเอง (เปิดตัวมาด้วยฉากที่พยายามเขียนคำว่า ‘คน (人)’ บนฝ่ามือแล้วกลืนลงไป วิธีทำให้หายตื่นเต้นของญี่ปุ่นน่ะค่ะ) แต่เพิ่งมาเฉลยอะไรหลายๆ อย่างในเวอร์ชันมังงะภาคโอเวอร์เจอร์และอนิเมในปี 2018 นี้เอง และอย่างที่พอจะทราบกัน ตัวละครหลักในซีรีส์ Shoujo☆Kageki Revue Starlight ล้วนเป็น ตัวละครแบบกลม (Round Character) กันทั้งสิ้น คือมีมิติ มีจุดดี จุดด้อย มีการคลี่คลายปมความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก ไปจนถึงพัฒนาทั้งด้านบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และทัศนคติตลอดการดำเนินเรื่อง ตัวละครของมาฮิรุเองก็มีการพัฒนาไปในทิศทางที่น่าสนใจเหมือนกันค่ะ
ครอบครัวสึยุซากิประกอบด้วย พ่อ, แม่, ย่า (ปกติคำว่าย่ากับยายของญี่ปุ่นใช้เป็น おばあちゃん ทั้งคู่ แต่เราเดาว่าเป็นย่าแหละ… อารมณ์แบบแม่ย้ายมาอยู่กับครอบครัวพ่อที่ทำธุรกิจฟาร์มน่ะค่ะ) น้องชายสามคน น้องสาวสองคน แล้วก็มาฮิรุเองค่ะ บ้านเป็นฟาร์มอยู่ที่ฮอกไกโด ครอบครัวอบอุ่นมาก ทว่าความอบอุ่นนี้เองที่เป็นปัจจัยให้เกิดปมความขัดแย้งภายในตัวละครของมาฮิรุ
แถมให้เล็กน้อย สตอรี่ในมายเธียร์เตอร์ของมาฮิรุที่อ่านจดหมายที่ทางบ้านส่งมาให้ จากย่าเป็น ‘สบายดีหรือเปล่า กินอาหารตรงเวลาใช่ไหม’ จดหมายจากน้องชายคนโต ‘ไม่ต้องห่วงนะ ผมจะดูแลพวกน้องๆ เอง’ (← ในมังงะคนนี้จะบอกว่าจะคอยช่วยงานที่บ้านแทนส่วนของพี่ด้วย) จดหมายจากน้องสาว ‘โตขึ้นหนูอยากเข้าโรงเรียนเซโชเหมือนกันค่ะ’
“…ตายละ แบบนี้พี่สาวต้องพยายามให้มากขึ้นแล้วสิ”
มาฮิรุในวัยเด็กเริ่มสนใจเส้นทางการเป็นนักแสดงเพราะมีโอกาสได้ดูละครเวทีเรื่องหนึ่งทางโทรทัศน์เข้า
“นั่นเรียกว่าละครเวทีจ้ะ”
“ทุกคนต่างก็ร้องเพลง บ้างก็เต้นรำ แล้วก็สวมบทบาทของตัวเองบนเวที… เพื่อส่งมอบความสุขให้แก่คนอื่นน่ะจ้ะ”
“นี่ คุณย่าคะ! หนูเองก็เป็นแบบนั้นได้ใช่ไหมนะ?”
“แน่นอนอยู่แล้วจ้ะ”
“ถ้าเป็นมาฮิรุละก็ ทำได้อยู่แล้วล่ะ”
จากนั้นมาฮิรุก็เริ่มฝึกบาตองมาตลอด รวมทั้งได้รางวัลต่างๆ มาพอสมควรด้วยค่ะ
“คุณย่าคะ หนูแสดงเป็นยังไงบ้างคะ?”
“ทั้งเปล่งประกายแล้วก็สุดยอดมากเลยล่ะ… มาฮิรุเป็นเหมือนดาวของย่าเลยล่ะจ้ะ”
ตัวมาฮิรุมีจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากเปล่งประกายเหมือนกับคนอื่นๆ เริ่มเรียนร้องเพลงและเล่นบาตองเพียงเพราะอยากเห็นรอยยิ้มของคนสำคัญ พยายามอย่างหนักเรื่อยมา ทั้งยังสร้างความหวังให้กับคนอื่นๆ ได้โดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งรับคำแนะนำและมาสอบเข้าโรงเรียนดนตรีเซโชได้ในที่สุด… ทว่าวันที่มาฮิรุเดินทางเข้ามาสอบในตัวเมืองกลับเจอสิ่งที่ทำให้ความมั่นใจที่ตัวเองมีมาตลอดสั่นคลอน เมื่อต้องมาอยู่ท่ามกลางคนที่เปล่งประกาย ก็เริ่มไม่มั่นใจว่าแสงของตัวเองนั้นสว่างเพียงพอจริงๆ หรือเปล่า ถึงขั้นไม่มั่นใจเลยสักนิดว่าตัวเองจะสามารถเรียนที่โรงเรียนเซโชไหวจริงๆ
เนื้อเพลงท่อนของมาฮิรุในเพลง 私たちの居る理由 พูดถึงความฝันเหมือนกันค่ะ
夢の前では大きく
เมื่ออยู่ต่อหน้าความฝัน ตัวตนของเราช่างยิ่งใหญ่
人の前では小さくなる
แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คน ตัวตนนั้นกลับเล็กลงเสียอย่างนั้น
でも本当の私を知りたくて
แต่ฉันก็ยังอยากรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเป็นเช่นไร
いつもその笑顔に憧れていた
เพราะว่าหลงใหลในรอยยิ้มนั้นเรื่อยมา
และท่อนสุดท้ายนั่น… คาเรนจัง!?
ตีความแบบเอาสื่ออื่นมาร่วมด้วยเราว่าหมายถึงตอนที่ 1 ในมังงะโอเวอร์เจอร์แหละค่ะ เป็นตอนที่มาฮิรุเจอกับคาเรนจังครั้งแรก ได้เห็นรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ มองตรงไปข้างหน้า มุ่งมั่นและปราศจากความลังเลโดยไม่เกี่ยงว่าอยู่ในสถานการณ์ไหน (ตอนสอบปฏิบัติคาเรนทั้งลืมเนื้อเพลง ทั้งเต้นผิดแบบหันไปคนละด้านกับเพื่อนด้วย แต่คาเรนไม่แพนิคเลย… บ้าจริง) เพราะมาฮิรุรู้ว่าตัวเองขาดความมั่นใจ เลยหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองไม่มีล่ะค่ะ
ความขัดแย้งภายในตัวเองของมาฮิรุคล้ายๆ กับของมายะตรงที่ ‘คนรอบข้างคาดหวังว่าทำได้’ ต่างกันที่มายะเลือกที่คิดในมุม ‘เพราะคนรอบข้างเชื่อมั่น ตัวเองเลยต้องตอบสนองความคาดหวังนั้น’ แต่ของมาฮิรุจะเป็น… ‘ทั้งที่คนรอบข้างเชื่อมั่น แต่ฉันกลับเปล่งประกายได้ไม่เท่ากับที่ใครๆ คาดหวัง’ และใช้ชีวิตในช่วงหนึ่งปีภายในโรงเรียนเซโชสูญเสียประกายแสงของตัวเองไปทีละน้อย (ถ้าใช้ภาษาวิชาการหน่อยคือ Self-Esteem/Self-Confidence หรือความมั่นใจและความพึงพอใจในตัวเองของมาฮิรุโดนบั่นทอนจากคนมีพรสวรรค์รอบตัวล่ะ… เหมือนเพื่อนร่วมห้องสองคนที่ลาออกไปตอนขึ้นปีสอง) สุดท้ายการได้เป็นที่พึ่งพิงของ ‘ไอโจ คาเรน’ คือสิ่งที่ยืนยันให้มาฮิรุรู้สึกว่าตัวเองยังมีความหมายและยังมีเรื่องที่มีแต่ตัวเองเท่านั้นที่จะทำได้อยู่
อนึ่ง ตอนจัดอันดับในบอร์ดออดิชันครั้งแรกอันดับมาฮิรุสูงกว่าคาเรนจังนะ ← แต่ส่วนตัวคิดว่าอันดับพวกนี้เป็นแค่ตัวเลขคร่าวๆ สามารถขึ้นลงได้ตลอดเวลาล่ะค่ะ เหมือนที่ฟุตาบะบอกกับคาโอรุโกะว่า ‘เหล่านักแสดงละครเวทีต่างขัดเกลาประกายแสงของตัวเองทุกวัน’ ไม่ได้แปลว่าที่หนึ่งจะชนะคนอื่นๆ ได้เสมอ อยู่ที่ปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบด้วย
สิ่งที่มาฮิรุทำคือการกลไกป้องกันตัวเองทางจิตวิทยาที่ชื่อ Fantasy หรือ Day Dreaming ที่เป็นการจินตนาการเรื่องเพ้อฝันเพื่อหลบเลี่ยงความจริง กับ Compensation ที่เป็นการการชดเชยจุดด้อยของตัวเองด้วยการนึกหาข้อดีอย่างอื่นมาทดแทนค่ะ… ในที่นี้คือการคิดว่า ‘ต่อให้ตัวเองไม่ได้เปล่งประกายเท่าคนอื่น’ แต่ก็ยัง ‘มีประโยชน์กับคาเรนจัง’ ล่ะ จริงๆ กลไกการป้องกันตัวเองทางจิตมีอีกหลายชนิดเลย คนเราใช้กันเป็นปกติ อาจจะเลือกใช้คละๆ กันบ้าง (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ Defense Mechanism) แต่การเลือกใช้วิธีเดียวซ้ำๆ หรือใช้มากเกินไปก็จะเป็นการบิดเบือนความจริงให้สมดุลทางจิตใจไม่เข้าที่เข้าทางได้เหมือนกันค่ะ (← เท่าที่ดูของคาโอรุโกะน่าจะเป็นการหลีกหนี ส่วนฟุตาบะเป็นการเก็บกดเอาไว้ล่ะ)
ซึ่งในอนิเมตอน 3 เองก็มีฉากที่จุนนะบอกให้คาเรน “เลิกรบกวนมาฮิรุได้แล้ว” แต่มาฮิรุพยายามจะตอบอ้อมๆ แอ้มๆ ว่าไม่ได้รบกวนอะไรเลย เต็มใจที่ให้ทำอย่างนี้ แต่โดนขัดด้วยคำว่าจุนจุนจนสติหลุดไปก่อนด้วยล่ะ
ทว่าพอ ‘คางุระ ฮิคาริ’ เพื่อนสมัยเด็กของคาเรนกลับมาจากลอนดอน… ทำให้เจ้าตัวที่เคยเหลาะแหละกลับมากระตือรือร้นกับการออดิชันสตาร์ไลต์อีกครั้ง มาฮิรุก็รู้สึกเหมือนคอมฟอร์ตโซนและความหมายในการมีตัวตนของตัวเองถูกแย่งไป และเริ่มตั้งแง่กับฮิคาริ… และในตอนนั้นเองสิ่งที่ทำให้มาฮิรุคว้าประกายแสงของตัวเองกลับมาได้คือคำพูดระหว่างการเรวิวกับคาเรนค่ะ
“ฉันน่ะไม่จำเป็นแล้วเหรอ?”
“…เอ๋”
“ที่เริ่มร้องเพลง ที่เริ่มเล่นบาตอง… หรือแม้กระทั่งสอบเข้าโรงเรียนนี้เอง ก็เพราะคุณย่าบอกให้ทำเท่านั้นแหละ”
“ฉันน่ะ ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย!”
“ไม่มีความมั่นใจ ไม่มีแม้กระทั่งความสามารถ …ความเปล่งประกายเองก็ด้วย”
“ถ้าไม่มีความเปล่งประกายของคาเรนจังแล้วละก็ ฉันก็คงทำอะไรไม่ได้เลย”
“เพราะงั้นล่ะ…!!”
“มาฮิรุจังน่ะ… เปล่งประกายมากอยู่แล้วนะ”
“ฉันน่ะ… ชอบทั้งเพลงที่อบอุ่นของมาฮิรุจัง
ชอบทั้งการเต้นที่เจิดจ้าเหมือนดวงอาทิตย์
ทั้งใจดีแล้วก็… มะ… มีชีวะ…”
“มีชีวิตชีวา?” [*]
“นั่นแหละ! การแสดงที่มีชีวิตชีวานั่นเองก็ฉันชอบมากเหมือนกัน!
มาฮิรุจังคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรเลยงั้นเหรอ? เรื่องนั้นน่ะ นอน-นอน ไม่จริงสักหน่อย! [**] เปล่งประกายมากเลยต่างหากล่ะ!”
“เข้าเรียนที่นี่เพราะมีสิ่งที่อยากเป็นใช่ไหมล่ะ? ที่เข้าร่วมออดิชันก็เพราะอยากเป็นดวงดาวใช่ไหมล่ะ?
มาฮิรุจังเองก็มีอยู่เหมือนกันนี่นา -สตาร์ไลต์- นั่นน่ะ”
[*] คำนี้คาเรนบอกว่า 朗らか ล่ะค่ะ แมกซ์คุงบอกว่าหาดูแล้วหมายถึงร่าเริงแจ่มใส มีชีวิตชีวาอะไรพวกนี้ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่ามีชีวิตชีวาน่าจะแปลเข้ากับบริบทง่ายกว่า…
[**] คาเรนพูดแค่ ノンノンだよ ล่ะ ก็เข้าใจอยู่หรอกว่าจะสื่ออะไร (ปกติน้องใช้เวลาปฏิเสธชาวบ้านแบบมีฟิลเตอร์โชเน็นด้วย ฮา) แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแปลยังไงให้ไม่ดูแปลเกินแต่คงความเป็นคาเรนไว้ ฮือ
ฉากนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดว่า… คนบางคนที่ดูขาดความมั่นใจในตัวเอง เขาอาจจะมองไม่เห็นประกายแสงของตัวเองจริงๆ ก็ได้ค่ะ และบางทีการพูด ‘ข้อดี’ ของอีกฝ่ายให้เจ้าตัวฟังตรงๆ มันก็มีความหมายกับเขามากกว่าที่เราคิด สุดท้ายการแข่งเรวิวครั้งนั้นกลายเป็นความพ่ายแพ้ที่ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง และเมื่อได้ดูตัวเองในรายการที่ที่บ้านส่งมาให้อีกครั้งถึงได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองหลงลืมไปคืออะไร…
“มาฮิรุซัง อยากเป็นดาวแบบไหนเหรอจ๊ะ?”
“เอ๊ะ? ดาวเหรอคะ…”
“คงจะเป็นดาวที่อบอุ่น… และสามารถมอบรอยยิ้มให้เหล่าคนสำคัญได้ค่ะ”
สุดท้ายมาฮิรุก็ตัดสินใจจะก้าวไปข้างหน้าและเปล่งประกายด้วยแสงของตัวเองค่ะ ถึงจะยังเป็นห่วงเป็นใยคาเรนและเพื่อนๆ คนอื่นเหมือนเดิม แต่ไม่เอาความมั่นใจในตัวเองไปยึดติดกับใครแล้ว ฉากในเอนดิ้งของมาฮิรุเลยออกมาเป็นแบบนี้ ต่างจากคนอื่นที่การดำรงอยู่ของคาแรคเตอร์เอื้อกัน ทั้งในฐานะเพื่อน คู่แข่ง คนสำคัญ ไม่ก็ของคาเรนกับฮิคาริที่ถึงจะมีบางซีนที่เอื้อกันแต่ก็ยังมีช่วงที่จุดยืนแยกกันอยู่ หรือของนานะในตอนที่ยังแบกรับความโดดเดี่ยวค่ะ