ก่อนหน้านี้เคยเขียนเอนทรี่พูดถึง ดวงดาวที่อบอุ่นและอ่อนโยน สึยุซากิ มาฮิรุ ไปแล้ว… เว้นช่วงกันไปนานพอสมควร ก็มาถึงคิวของอีกสองตัวละครจากซีรีส์ Shoujo☆Kageki Revue Starlight อย่าง ฮานายางิ คาโอรุโกะ กับ อิสุรุกิ ฟุตาบะ บ้างค่ะ ข้อมูลของสองคนนี้มีส่วนที่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงกันค่อนข้างเยอะ (มีความกันและกันสูงมาก) เลยเขียนรวมกันในเอนทรี่เดียวกันไปเลย วอนอย่าเข้าใจผิดว่าขี้ชิปนะค—–
เอนทรี่วิเคราะห์ตัวละครใดๆ ภายในเครือข่ายถังเรียบเรียงขึ้นด้วยทัศนคติ รสนิยม และประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ต้องปักใจเชื่อทั้งหมดก็ได้ค่ะ แต่ถ้าอ่านแล้วชอบตัวละครที่เคยเขียนถึงกันมากขึ้น หรือสนใจอยากหาความรู้ต่อยอดในหลายๆ ด้าน เราเองจะดีใจมากเลยล่ะ!
Hanayagi Kaoruko’s Profile | |
---|---|
ชื่อ | ฮานายางิ คาโอรุโกะ (花柳香子, Hanayagi Kaoruko) |
นักพากย์ | อิโต้ อายาสะ (伊藤 彩沙, Ito Ayasa ทวิตเตอร์ @ayasa_ito)
นักพากย์จากค่ายฮิบิกิ ค่ายที่แฟนประจำ (?) ของเครือข่ายถังคงจะคุ้นชื่อกันไม่มากก็น้อย อยู่ในแทบทุกโปรเจกต์ที่บูชิโร้ดเป็นตัวตั้งตัวตี |
วันเกิด | 3 มีนาคม |
ส่วนสูง | ออฟฟิศเชียลยังไม่ระบุ (มีคนคำนวณจากความสูงมาฮิรุไว้ว่าน่าจะประมาณ 155 ซม.) |
สีประจำตัว | ชมพู #e08696 |
อาวุธ | พัดญี่ปุ่น, นางินาตะ [1] ชื่อ 水仙花 (Suisenka) ที่หมายถึงดอกนาร์ซิสซัส
สมคอนเซปต์ตัวละครก่อนพัฒนาคือ “ผู้หญิงจองหองหลงตัวเองสนใจแต่เรื่องของตัวเอง” |
สิ่งที่ชอบ | สะสมพัดญี่ปุ่น, สะสมของที่มีกลิ่นหอม (ถุงหอม, น้ำหอม) |
สิ่งที่ไม่ชอบ | การทำงานบ้าน |
ของกินที่ชอบ | อันมิตสึ, คอมเปอิโตะ [2], ดากาชิ [3], วากาชิ [4], ขนมหวาน [5] |
ของกินที่ไม่ชอบ | ต้นหอมญี่ปุ่น |
วิชาที่ถนัด | รำญี่ปุ่น, ภาษาอังกฤษ (เพราะถ้าจะครองโลกต้องเก่งภาษาอังกฤษ เหตุผลจีเนียสมาก) |
วิชาที่ไม่ถนัด | พละศึกษา, คิวบู๊ |
Isurugi Futaba’s Profile | |
---|---|
ชื่อ | อิสุรุกิ ฟุตาบะ (石動双葉, Futaba Isurugi) |
นักพากย์ | อิคุตะ เทรุ (生田 輝, Ikuta Teru ทวิตเตอร์ @chichichi430)
นักแสดง งานพากย์อนิเมครั้งแรก นอกจากสตาร์ไลต์แล้วผลงานส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบละครเวทีมากกว่าค่ะ |
วันเกิด | 17 เมษายน |
ส่วนสูง | ออฟฟิศเชียลยังไม่ระบุ (มีคนคำนวณจากความสูงมาฮิรุไว้ว่าน่าจะประมาณ 150 ซม. ) |
สีประจำตัว | ม่วง #8c67aa |
อาวุธ | ดาบไม้, ฮัลเบิร์ด ชื่อ Determination ที่หมายถึง “ความมุ่งมั่น, ความแน่วแน่” ความหมายคล้ายคลึงกับตุ๊กตาดารุมะ |
สิ่งที่ชอบ | มอเตอร์ไซค์, ดารุมะ, 細かい作業 พวกงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียด ประณีต
ในเกมเหมือนฟุตาบะจะมีโมเดลมอเตอร์ไซค์ด้วย… ไม่แน่ใจว่าหมายถึงต่อโมเดลอะไรพวกนี้หรือเปล่าล่ะค่ะ |
สิ่งที่ไม่ชอบ | การมีเวลาว่างมากเกินไป |
ของกินที่ชอบ | เนื้อ, ดากาชิ, คินาโกะแท่ง[6], ของหวาน |
ของกินที่ไม่ชอบ | ปลา |
วิชาที่ถนัด | พละศึกษา, คิวบู๊ พวกที่ต้องขยับร่างกายเยอะๆ |
วิชาที่ไม่ถนัด | ภาษาอังกฤษ… น้องดูเรียนวิชาการไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่… |
มุมเกร็ดความรู้
ลองเอาชื่อภาษาญี่ปุ่นไปเสิร์ชภาพประกอบดูได้นะคะ
- นางินาตะ ง้าวญี่ปุ่น มีน้ำหนักเบากว่าง้าวจีน ผู้หญิงสามารถใช้งานได้
- คอมเปอิโตะ (金平糖) หรือขนมน้ำตาลกรวด เป็นลูกกวาดที่ทำจากน้ำตาล มีประวัติความเป็นมายาวนาน สมัยก่อนผลิตได้ยากจึงเป็นของมีมูลค่าสูง
- ดากาชิ (駄菓子) ที่เป็นของโปรดของทั้งฟุตาบะและคาโอรุโกะ… ในฉากย้อนอดีตฟุตาบะเป็นคนคอยซื้อให้ค่ะ ในมังงะโอเวอร์เจอร์คาโอรุโกะเองก็ดูเพิ่งรู้จักร้านอะไรแบบนี้ด้วย หมายถึงพวกขนมญี่ปุ่นดั้งเดิม ราคาถูก เริ่มต้นที่ 10-20 เยน บางชิ้นมีรางวันล่อตาอย่างแถมถูกรางวัลจะแถมชิ้นที่สองด้วย ทำให้เป็นที่ถูกใจของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล่ะ (เธรดขนมดากาชิในตอนหกเพิ่มเติม ที่นี่)
- วากาชิ (和菓子) ขนมญี่ปุ่นดั้งเดิม นิยมกินคู่กับน้ำชาหรือใช้เป็นของฝาก ไม่เพียงรสชาติดีแต่ยังพิถีพิถันให้ออกมาหน้าตาหรูหราน่ารับประทานด้วย อันมิสึเองก็นับเป็นวากาชิอย่างหนึ่งเหมือนกัน
- ขนมหวาน ตรงนี้ภาษาญี่ปุ่นคือ 甘い物 หมายถึงพวกขนมรวมๆ อย่างเค้ก ทาร์ตผลไม้ ไอศกรีมต่างๆ แหละค่ะ แต่ดูไม่ค่อยสันทัดเรื่องขนมต่างประเทศกันเท่าไหร่ ในมังงะคาโอรุโกะดูไม่รู้จักพวกพัฟกับชูครีมด้วย ทำเชิงอรรถให้เห็นว่าของโปรดสองคนนี้มีแต่ขนมหลายๆ แบบเฉยๆ ล่ะ (ฮา)
- คินาโกะแท่ง (きな粉棒) เป็นดากาชิอย่างหนึ่ง ประกอบด้วยผงถั่วเหลืองปั้นเป็นแท่ง คลุกด้วยผงถั่วเหลืองอีกที ราคาชิ้นละ 10 เยน อายาสะบอกว่าชื่นชอบสิ่งนี้ (…)
อ่านเพิ่มเติมได้ในเอนทรี่ สิ่งที่ปรากฏอยู่ใน ED ของสตาร์ไลต์ตอนหก
— ชิปปุย (@JustShippui) September 30, 2018
ภาพสองคนนี้จากคลิปโปรโมตอันแรก
ในเวอร์ชันละครเวที – The Live – #1 REVIVAL นั้น ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลของสองคนนี้เท่าไหร่ รู้แค่ว่าเป็น ‘เพื่อนสมัยเด็ก’ ที่ดูตัวติดกันตลอดเวลา ฟุตาบะที่แม้นิสัยออกจะอารมณ์ร้อน (หล่อ) และพูดจาขวานผ่าซาก (หล่อ) แต่ก็ยัง (หล่อ) คอยตามใจคาโอรุโกะที่ดูเป็นคุณหนูๆ อยู่เสมอ (หล่อ) เรียกว่าตามใจมากเกินไปจนหล่อหลอมนิสัยส่วนหนึ่งของคาโอรุโกะให้กลายเป็นเด็กที่ ‘เอาแต่ใจ’ และ ‘เห็นแก่ตัว’ ชนิดที่ค่อนข้างเกินคำว่านิสัยเสียไปมากทีเดียว…
และด้วยเวลาที่มีจำกัด มีทั้งส่วนที่เป็น ‘มิวสิคัล’ และเน้นฉาก ‘กวัดแกว่งอาวุธเข้าปะทะกัน’ การคลี่คลายปมความขัดแย้งของตัวละครหลายๆ ตัวในเวอร์ชันละครนี้จึงยังไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมากค่ะ… รู้แค่ว่าระหว่างการเรวิวนั้น ทั้งฟุตาบะกับคาโอรุโกะต่างก็ตระหนักถึงจุดด้อยของตัวเองและพัฒนาตัวละครขึ้นมาได้ล่ะ
โดยหลายๆ อย่างก็ได้มารู้เพิ่มเติมในเวอร์ชันของหนังสือการ์ตูน อนิเม รวมไปถึงเกมที่เพิ่งเปิดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาด้วยค่ะ
ครอบครัวของ ‘ฮานายางิ’ กับ ‘อิสุรุกิ’
ฮานายางิ คาโอรุโกะ เป็นหลานสาวของผู้นำตระกูลฮานายางิคนปัจจุบัน เกิดในตระกูลรำญี่ปุ่นเก่าแก่ของเกียวโต (อ้างอิงจากอีเวนต์ฮาโลวีนในเกมเป็นครอบครัวแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ไม่ค่อยพูดถึงเทศกาลของต่างชาติด้วย) พูดติดสำเนียงคันไซ นิสัยออกไปทางคุณหนูเอาแต่ใจนิดๆ (หรือบางทีก็ไม่นิด…) มีคนคอยตามใจแทบทุกอย่างจนเคยตัว ทำให้ทำอะไรไม่ค่อยเป็น จนมาถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เจ้าตัวเริ่มลองทำอะไรหลายๆ อย่างเองดูบ้างล่ะ
ฐานะร่ำรวย พกแบล็กการ์ด ไม่พกเหรียญสิบเยนติดตัวด้วย
โดยข้อมูลจากแมกซ์คุงบอกว่าในความเป็นจริงนั้นญี่ปุ่นมีสำนักรำหลักๆ อยู่ 5 สำนัก และสำนักฮานายางิเป็นสำนักที่โด่งดังที่สุดด้วยค่ะ ใครอยากดูของจริงสามารถไปเสิร์ชหาด้วยคำว่า 花柳流 ในยูทูปได้ ออกมาประมาณนี้
อย่างที่กล่าวไปว่าตระกูลฮานายางินั้นเป็นครอบครัวญี่ปุ่นเก่าแก่ ทำให้ลักษณะครอบครัวจึงยังยังหลงเหลือระบบ ‘ตระกูลหลัก (บ้านหลัก)’ กับ ‘ตระกูลสาขา (บ้านสาขา)’ อยู่ค่ะ
ซึ่งระบบดังกล่าวเนี่ยแต่เดิมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ตระกูลหลักเกิดปัญหาไร้ทายาทสืบทอดพวกยศฐาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สิน ที่ดิน ไปจนถึงฐานะทางสังคม…โดยจะสืบทอดจากพ่อสู่ลูกชายคนโตเท่านั้น แต่บางทีอาจเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้มีทายาทไม่ได้ อย่างตายเร็ว เป็นหมัน หรืออะไรก็แล้วแต่ คนจากตระกูลสาขามาสืบทอดแทนนั่นแหละค่ะ (แปลว่าผู้นำตระกูลของฮานายางิคนปัจจุบันมีศักดิ์เป็น ‘ปู่’ ของคาโอรุโกะล่ะ)
ถ้าตระกูลหลักมีลูกชายมากกว่าหนึ่งคนก็จะส่งคนที่เหลือไปเป็นผู้นำตระกูลสาขาเพื่อให้ความสัมพันธ์ของตระกูลยังแน่นแฟ้น
เอาง่ายๆ คือ ตระกูลสาขามีตำแหน่งเป็นตัวสำรอง นั่นเอง
ตระกูลสาขา ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติพี่น้องกัน อาจจะเป็นคนใช้ที่อยู่กับครอบครัวมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุจนได้รับความไว้วางใจก็ได้ จากในอนิเมตอนหกทำให้พอจะเดาๆ กันได้ว่า ‘อิสุรุกิเป็นหนึ่งในตระกูลสาขาของฮานายางิ’ ด้วยจุดสังเกตดังต่อไปนี้
ฉากย้อนอดีตช่วงเปิดตอนซูมไปที่ป้ายเป็นเรือนญี่ปุ่นของตระกูล ‘花柳 (ฮานายางิ)’ แล้วมีตัวละครที่น่าจะเป็นแม่ของคาโอรุโกะตะโกนตามหาเจ้าตัว โดยจะมีตัวละครอีกตัวโต้ตอบกันว่า “คุณหนูคาโอรุโกะคะ” “อิสุรุกิฮัง ทางนั้นเป็นยังไงบ้าง” สรุปประโยคนี้ได้ว่า อิสุรุกิมียศต่ำกว่าฮานายางิ หรือก็คือเป็นคนใช้ในเรือนนั่นเอง และมีอิสุรุกิมากกว่าหนึ่งคนอยู่ในบ้านฮานายางิ…!?
หลังจากนั้นก็มีฟุตาบะในวัยเด็กโผล่ออกมา เป็นอีกจุดที่สะกิดใจว่าทำไมฟุตาบะถึงเดินไปมาในบ้านคนอื่นได้หน้าตาเฉยกัน… แปลว่าสองคนนี้อยู่บ้านเดียวกันตั้งแต่เด็กๆ และจะอยู่ด้วยกันตลอดไป อย่างที่บอกไว้ในเนื้อเพลง 花咲か唄 (Hanasaka Uta, บทเพลงของดอกไม้ที่ผลิบาน) “เราสองในวัยเยาว์ต่างเอานิ้วเกี่ยวก้อยกันและสัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป” ค่ะ
คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่เพราะน่าจะรู้ๆ กันอยู่แล้วด้วยล่ะ จริงๆ ของไทยเองก็มีอะไรคล้ายๆ แบบนี้นะคะ พวกให้ครอบครัวข้ารับใช้อาศัยอยู่ในเรือนด้วย แต่ไม่ถึงขนาดจะกลืนตระกูลให้แน่นแฟ้นแบบนั้นล่ะ
อิสุรุกิ ฟุตาบะ จะเป็นตัวละครเด็กผู้หญิงที่ใส่ความ Musculine (มีลักษณะของเพศชาย) ลงไปกว่าคนอื่นๆ ในซีรีส์พอสมควรล่ะ ทั้งเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม หรือพวกการแสดงออกอย่างวิธีการพูดหรือแม้แต่ท่านั่ง ท่าเดิน… แต่ข้อมูลที่มีจนถึงปัจจุบันไม่ได้พูดถึงปมความขัดแย้งภายในตัวละครด้านนี้เป็นพิเศษล่ะค่ะ มีแค่พูดถึงใน OVA ที่กลุ้มใจเรื่องส่วนสูงกับหน้าอกของตัวเองเพราะว่า “รูปร่างแบบนี้ได้เล่นแต่บทเด็กเล็กๆ ไม่ก็บทเด็กผู้ชายนี่สิ” แล้วฮิคาริร่ายบทละครยาวเหยียดปลอบใจโดยยกตัวอย่างประกอบแล้วว่าแม้จะตัวเล็กก็ยังเปล่งประกายบนเวทีได้
ในมังงะโอเวอร์เจอร์ตอนที่ทั้งสองคนโดนทักว่า ‘สนิทสนมกันดีนะ’ คาโอรุโกะบอกว่า “เป็นเหมือนผู้ติดตามมากกว่า” ส่วนฟุตาบะบอกว่า “เป็นเหมือนคนในครอบครัวมากกว่า” ล่ะค่ะ
เพราะอย่างนั้นสถานะของฟุตาบะจึงไม่ใช่แค่เป็น ‘เพื่อนสมัยเด็ก’ แต่เป็นทั้ง ‘คนในครอบครัว’ และ ‘ผู้ติดตาม’ ของคาโอรุโกะด้วยค่ะ ชนิดที่ว่าทำให้แทบทุกอย่าง ถ้าไม่มีฟุตาบะแล้วทำอะไรแทบไม่เป็นเลย (เป็นบทแนะนำตัวที่นักพากย์เองก็เน้นบ่อยมากช่วงโปรโมตแรกๆ ด้วย) ถ้าจำไม่ผิดมีตอนที่คุยกับคลอดีนว่า ‘สำหรับฟุตาบะแล้วคาโอรุโกะเป็นคนสำคัญ ส่วนสำหรับอีกฝ่ายตัวเองคือคนที่ต้องพึ่งพา’ ด้วยล่ะ
อันนี้เป็นเกร็ดความรู้นิดหน่อย… ปกติทางญี่ปุ่นจะเปิดเทอมช่วงเดือนเมษายน และเกณฑ์การเข้าเรียนประถมจำเป็นต้องให้เด็กอายุครบหกขวบในวันเปิดเทอมเสียก่อน ขาดไปแม้แต่วันเดียวก็ไม่ได้ แปลว่าถ้าฟุตาบะกับคาโอรุโกะเกิดปีเดียวกัน ฟุตาบะที่เกิดกลางๆ ค่อนมาทางปลายเดือนเมษายนจะยังอายุไม่ถึงเกณฑ์เข้าเรียนค่ะ เพราะงั้น ฟุตาบะจะเกิดก่อนคาโอรุโกะเกือบปี เลยล่ะ บวกกับที่เจ้าตัวสอบใบขับขี่ตอนเข้าเรียนที่เซโชปีแรกด้วย เพราะสอบใบขับขี่มอเตอร์ไซค์จำเป็นต้องอายุ 16 ปีขึ้นไปค่ะ
เห็นคนญี่ปุ่นเดาว่าคงมาจากการเล่นคำ 88 = 花 (hana) 柳 (yagi) นามสกุลของคาโอรุโกะ กับ 28 ที่อ่านว่า futa+ba ตรงตัว (เลข 8 ภาษาญี่ปุ่นสามารถอ่านได้ทั้ง ha, ya, ba)
ใจขี้ชิปบอกว่าให้พิมพ์ว่านี่มันไม่ใช่เพื่อนกันแล้ว แต่ใจวิชาการบอกว่าความสัมพันธ์ของสองคนนี้มันบียอนด์ Romantic Relationship ไปไกลมาก ถ้ายึดตามทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก คือมี Intimacy (ความรู้สึกใกล้ชิด ผูกพัน) กับ Commitment (คำสัญญา) แล้วแน่ๆ ล่ะค่ะ ออกมาเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Companionate Love ซึ่งความรักชนิดนี้ไม่ได้เกิดแค่กับคนรัก แต่เกิดกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่วางแผนในอนาคตร่วมกันได้เช่นกัน
ข้อมูลออฟฟิศเชียลไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ก็จริง แต่ในคิสึนะสตอรี่ของคาโอรุโกะ 4 ดาวใบฮาโลวีนจะพูดถึงตอนที่คนของตระกูลฮานายางิยกพวกมาหาคาโอรุโกะที่โตเกียว แต่ฟุตาบะไม่ได้ตามไปด้วยเพราะคาโอรุโกะอยากแสดงให้พวกอาจารย์เห็นว่าตัวเองเติบโตขึ้นแล้ว โดนรุมเร้าถามว่า “คุณหนูคะ” “คุณหนูเป็นยังไงบ้าง” “คุณหนูคาโอรุโกะสบายดีไหม” จนน้องหมดสภาพกลับหอไปให้ฟุตาบะนวดเท้าเยียวยา คิดว่าความสัมพันธ์ของบุคคลเหล่านั้นคือคนรับใช้คนอื่นในตระกูลฮานายางิและอาจารย์สอนรำของคาโอรุโกะ แต่ไม่ได้ถึงขนาดใกล้ชิดกับฟุตาบะแหละ
ในมังงะที่แปลสแกนอังกฤษแปลชื่อตอนที่พูดถึงการเข้าหอพักโรงเรียนครั้งแรกของสองคนนี้เอาไว้ว่า First Time We Live Together ภาษาญี่ปุ่นเป็น はじめての2人暮らし แปลว่าอาศัยอยู่ด้วยกันแค่สองคนครั้งแรก อันนี้เราคิดว่าน่าจะหมายถึง “ก่อนหน้านี้จะอยู่ด้วยกันมาตลอดแต่นี่เป็นครั้งแรกที่แยกออกมาอยู่หอด้วยกันแค่สองคน” แหละ by. แมกซ์คุง
นอกจากนี้ช่วงแฟลชแบ็กไปตอนมัธยมต้น รวมไปถึงฉาก ‘เรวิวแห่งคำสัญญา’ จะเห็นว่าคาโอรุโกะเป็นคนบอกฟุตาบะว่าตัวเองจะเข้าเรียนที่โรงเรียนดนตรีเซโช เพราะงั้นฟุตาบะต้องตามมาเรียนด้วย เป็นแค่เพื่อนสมัยเด็กไม่น่าจะบังคับให้มาเรียนที่เดียวกันได้ขนาดนั้นล่ะ… ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งใน ปมขัดแย้งภายในตัวละคร สำคัญของฟุตาบะเลยค่ะ
ตัวนักพากย์เองเคยพูดถึงเรื่องราวในตอนเด็กๆ ของสองคนนี้เอาไว้ ว่าคาโอรุโกะเป็นเด็กที่มีบรรยากาศเป็นลูกคุณหนูก็จริง… แต่มีจุดที่ไม่ถูกกับผู้คน เวลามีอะไรจะคอยวิ่งมาหลบหลังฟุตาบะอยู่เสมอ ในมังงะโอเวอร์เจอร์ตอนเข้าปีหนึ่งแรกๆ ก็ยังเป็นอยู่ค่ะ ฟุตาบะก็คอยแอบไปบอกคนอื่นๆ ให้ช่วยสนิทสนมกับคาโอรุโกะล่ะ มีแอบมองห่างๆ อย่างห่วงๆ ว่าเข้ากับเพื่อนได้ไหมด้วย เพราะอยากให้เจ้าตัวทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง… แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเผลอตามใจมากไปอยู่ดีค่ะ!
เรวิวแห่งคำสัญญา ‘บทเพลงแห่งดอกไม้ผลิบาน’
“…พอบันทึกเสียงท่อนที่บอกว่า “ฟุตาบะงี่เง่า!” “คาโอรุโกะ ยายคนเห็นแก่ตัว!” ก็คิดขึ้นมาว่านี่มันเหมือนที่เราทะเลาะกันเมื่อสัปดาห์ก่อนเลยนะล่ะค่ะ (หัวเราะ)”
– อิคุตะ เทรุ, ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่แถมมากับบลูเรย์แผ่นแรก
(อยากใส่มาเฉยๆ ทุกคนต้องได้รับรู้เรื่องนี้)
“เราเหนื่อย วันๆ มีแต่ซ้อมซ้อมซ้อมซ้อม…”
“บอกว่าอยากให้ผลิบานเป็นดอกไม้ที่งดงาม แต่ดอกไม้น่ะจำเป็นต้องรับแสงแดดเพียงพอกับดื่มน้ำอร่อยๆ ด้วยไม่ใช่หรือไง”
“เราตัดสินใจแล้วค่ะ ว่าจะไปอยู่กับครอบครัวที่ ‘พูดชมเชย’ เรามากกว่านี้”
จากช่วงต้นของอนิเมตอน 6 ได้ปูลักษณะตัวละครมาให้เห็นว่าถึงจะเป็นเด็กที่ถึงจะมีคนรับใช้และเพื่อนสมัยเด็กคอยตามใจ แต่ก็ยังโดนครอบครัวเข้มงวดจนน่าอึดอัด… อาจถึงขั้นอยู่ในระดับที่ได้รับการคาดหวังอย่างหนัก ทำออกมาได้ดีก็เท่ากับเสมอตัว เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว แต่ถ้าทำออกมาได้ไม่ดีก็จะโดนตำหนิ ส่วนฟุตาบะที่ซื้อขนมมาให้และคอยฟังอีกฝ่ายระบายความในใจก็ไม่ได้พูดอะไรเป็นพิเศษ แค่อยู่ข้างๆ ฟังเรื่องที่เจ้าตัวพูด และคอยถามว่า
“มีเงินค่าเดินทางหรือเปล่า? ขึ้นรถไฟเป็นไหม?”
“เหรอ จะไปจริงๆ เหรอ”
“จะไปบอกคุณน้ากับนายท่านไว้ก็แล้วกัน”
“น่าเสีย น่าเสียดาย… ฉันอุตส่าห์ ‘ชอบ’ การร่ายรำของคาโอรุโกะแท้ๆ นะ”
ส่วนตัวแล้วเรารู้สึกชอบที่ตัวบทเลือกใช้คำว่า ‘ชอบ’ มากกว่าจะชมว่า ‘ทั้งที่ทำออกมาได้ดีแท้ๆ’ ล่ะค่ะ… สภาพจิตใจของหลายคนเรา (โดยเฉพาะเด็กช่วงวัยประมาณห้าหกขวบ) ถ้าไม่เคยมีใครบอกว่า ‘ชอบ’ สิ่งที่เราทำมาก่อน บอกแค่ว่า ‘ทำออกมาได้ดี’ คำพูดแบบนั้นค่อนข้างมีผลกระทบต่อจิตใจและมีความหมายในระดับหนึ่งเลย จนอาจถึงกับหยิบเอาจุดนั้นมาเป็นที่พึ่งพิงของตัวเองไปด้วยล่ะ
“ถะ ถ้าพูดถึงขนาดนั้นละก็ช่วยไม่ได้นะ… เรากลับไปก็ได้”
“แต่ฟุตาบะฮังต้องคอยให้กำลังใจเรา คอยชมเราเยอะๆ แล้วก็คอยตามใจซื้อขนมให้เราด้วย
จะให้เป็นแฟนคลับอันดับหนึ่งของเราเลย”
“เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน… เราจะแสดง ‘ส่วนที่เจิดจ้าที่สุดในโลก’ ให้ฟุตาบะฮังเห็นเป็นคนแรกเอง”
อนึ่ง เวอร์ชันละครเวทีฟุตาบะจะชมคาโอรุโกะค่อนข้างเยอะ (มาก…) ประโยคเปิดตัวที่น่าประทับใจ “ช่างเจิดจรัสสมเป็นฮานายางิ คาโอรุโกะ” ยิ่งอันล่าสุดทำอะไรก็หันมาปรบมือให้ตลอดด้วย เอาใจเก่ง–
ในโปรไฟล์แนะนำตัวของคาโอรุโกะตั้งแต่แรกๆ เขียนบอกเอาไว้ว่าความฝันของน้องคือการ “ครองโลก” แต่พอดูในบริบทหลายๆ อย่างแล้ว สามารถเอามาถ่ายทอดออกมาให้สละสลวยได้ประมาณว่า “อยากแสดงความเปล่งประกายบนเวทีของตัวเองให้คนทั้งโลกได้เห็น” “อยากใช้การแสดงจับใจคนทั้งโลก” ค่ะ… ส่วนฟุตาบะในวัยเด็กนั้นเริ่มทำอะไรเพียงเพราะคาโอรุโกะ ‘อยากให้ทำ’ ไม่มีเรื่องที่ตัวเองอยากทำเป็นพิเสษ แค่อยู่เคียงข้างและเชื่อมั่นในคำสัญญาที่อีกฝ่ายเคยให้ไว้ตั้งแต่เด็กๆ เท่านั้น
จนกระทั่งวันที่ถูกบังคับให้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนดนตรีเซโช และค้นพบสิ่งที่แม้แต่ตัวเองก็ทำได้ ค้นพบ ‘ความฝัน’ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมี
“ทำให้คิดว่าฉันเองก็ทำได้เหมือนกัน”
“อยากทำความฝันตัวเองให้เป็นจริงไปพร้อมๆ กับเฝ้ามองแผ่นหลังของคาโอรุโกะที่กำลังพยายามไปด้วย”
ทว่าพอโตขึ้นคาโอรุโกะกลับเคยชินกับการถูกดูแลและไม่คิดที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ทั้งยังหลงลืมความฝันและคำสัญญา เหลิงไปกับพรสวรรค์ของตัวเองจนไม่ได้ขัดเกลาความสามารถอย่างอื่นเพิ่ม เนื้อเพลง 私たちの居る理由 ท่อนของคาโอรุโกะจะบอกว่าตัวเอง ‘ฉันปรารถนาที่จะไปสู่เวทีถัดไป (私ならば目指せる次のステージへ)’ ค่ะ… เรียนมันน่าเบื่อ เมื่อไหร่จะได้แสดงของจริง เป็นลักษณะนิสัยของคนที่มั่นใจในความสามารถของตัวเองล่ะ ใช้ภาษาเข้าใจง่ายเลยคือพวกมีฝีมือแต่อีโก้สูงล่ะ (อีกแง่คือน้องอยากไปยังเวทีถัดไปเพื่อจะได้แสดงส่วนที่สว่างไสวที่สุดในโลกเร็วๆ หรือเปล่า่นะ…?) ส่วนของฟุตาบะจะพูดถึงความฝันที่ไม่อาจยกให้ใคร ปรารถนาที่จะเปล่งประกายด้วยแสงของตัวเอง ตามตัว ไม่ต้องตีความมาก
คาโอรุโกะมีความคิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และยังไงฟุตาบะก็ต้องคอยตามใจตัวเอง จะขอร้องเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลแค่ไหนก็ต้องยอม (อย่างช่วงก่อนจะเข้าตอนหกมีฉากที่คาโอรุโกะบอกว่า “ถ้าเราต้องสู้กันละก็ฟุตาบะฮังยอมให้เราชนะด้วยนะ” “ยอมยกบทนำให้เราได้ไหม?” โผล่ขึ้นมาหลายครั้งด้วยค่ะ ในละครเวทีก็มีซีนนี้ค่ะ แต่เป็นคาโอรุโกะเหวี่ยงที่ฟุตาบะไม่ยอมยกบทของตัวเองให้) ลืมคำสัญญาที่เคยให้ไว้จนหมด จนต้องโดนด่าเรียกสติแบบในฉาก ‘เรวิวแห่งคำสัญญา’ ในตอนหกค่ะ
หลายครั้งเราจะเห็นว่าคาโอรุโกะ ‘หึงหวง’ ฟุตาบะมาก (ใช่ค่ะ คำนี้แหละ ถูกแล้ว แต่อธิบายแบบเอาฟิลเตอร์ออกมันเกิดขึ้นได้ทั้งกับครอบครัวและเพื่อนนะ ) เธอไม่พอใจทุกครั้งที่อีกฝ่ายไปสนใจคนอื่นมากกว่า อย่างในเวอร์ชันละครเวทีเวลาฟุตาบะเดินเข้าไปหาหรือปรบมือให้เพื่อนคนอื่น คาโอรุโกะเองก็จะสั่งให้หยุด ถ้าเป็นเวอร์ชันมังงะโอเวอร์เจอร์จะมีฉากที่เจ้าโกรธที่ฟุตาบะมีความลับ หายไปไหนมาไหนโดยไม่บอก
ฟุตะคาโอ ☺️ pic.twitter.com/Mv8WIAT9z5
— ชิปปุย (@JustShippui) September 28, 2018
แฮ่ pic.twitter.com/0nrQC0s9kG
— ชิปปุย (@JustShippui) September 28, 2018
นั่งคิด นอนคิด ตะแคงคิดยังไงนิยามที่ครอบคลุมที่สุดน่าจะมีแค่คำว่า “เหมือนแฟนสาวเอาแต่ใจ” ที่ความสัมพันธ์จะค่อนข้างเป็น Toxic Relationship บั่นทอนสุขภาพจิตหน่อยๆ แหละ
สตอรี่ในฉากเรวิวของสองคนนี้ เริ่มจากการที่คาโอรุโกะทดสอบออดิชันของห้องบีไม่ผ่านค่ะ “ก็แค่นั้น ดูไม่ค่อยจับใจ ไม่มีเสน่ห์ดึงดูดเลย” แล้วไม่พอใจที่ฟุตาบะผ่าน จนมาถึงช่วงที่รู้ว่าเจ้าตัวหนีไปซ้อมกับคลอดีนแบบไม่บอกกันล่ะ มีบอกว่า “จะแย่งบทที่ควรจะเป็นของเราไปใช่ไหม” ด้วย เถียงกัน ทะเลาะกันใหญ่โตเหมือนเด็กๆ ไม่ยอมคุยกัน สุดท้ายคาโอรุโกะตัดสินใจจะลาออกจากโรงเรียนเซโชและหนีกลับเกียวโตทั้งอย่างนั้น
ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า กลไกการป้องกันตัวเองทางจิตวิทยา (Defence Mechanism) ที่คาโอรุโกะใช้บ่อยๆ เวลาเผชิญหน้ากับสถานการณ์ตึงเครียด คือ แบบหลีกหนี (Avoidance) ค่ะ คือการหลบหลีกจากวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด… อย่างตอนที่รู้สึกเรียนร่ายรำจนเหนื่อยแล้วหนีออกมา ส่วนของฟุตาบะเป็น แบบเก็บกดเอาไว้ (Repression) ค่ะ เช่นในบทสัมภาษณ์ถามตอบของเด็งเกคิออนไลน์ว่าข้อเสียของตัวเองคือ “ไม่ชอบเรื่องจุกจิก เวลามีอะไรไม่สบายใจก็ออกไปขับมอเตอร์ไซค์ก็พอ” ด้วย หลายๆ ทฤษฏีจะแบ่งหมวดหมู่หรือชื่อเรียกไม่เหมือนกัน และถ้าใช้วิธีใดวิธีหนึ่งติดกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลในแง่ลบต่อจิตใจค่ะ
“แค่แพ้ครั้งเดียวก็ถอดใจแล้วหรือไง?”
“หึ ไม่ต้องสนใจเราหรอก”
ถึงจะพูดแบบนั้นแต่ก็ไปยืนดราม่าซีนตัดพ้ออยู่ที่ชานชาลารถไฟอยู่ดี… มีการได้สติตอนได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ และหวนย้อนถึงคำพูดของมายะที่ให้นึกถึง “คนที่คอยสนับสนุนและทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้” (แฟลชแบ็กเกินเพื่อนมากช่วยด้วย) สุดท้ายฟุตาบะก็มา มีฉากเถียงกันนิดหน่อย จากนั้นก็มีโทรศัพท์นัดหมายสำหรับการ ‘ออดิชัน’ เข้ามาค่ะ
“ถ้าอยากกลับจริงๆ ละก็ไม่มายืนเอ้อระเหยอยู่แถวนี้หรอกน่า”
“ตัวเองที่ดูหอบขนาดนั้นเพราะว่าจะมาตามเรากลับไปใช่ไหมล่ะ?”
ฉาก ‘เรวิวแห่งคำสัญญา’ เป็นตอนที่ตัวละครยังอารมณ์ยังคุกรุ่นจากการทะเลาะกันค่ะ… คำพูดคำจาของคาโอรุโกะค่อนข้างใส่อารมณ์ ทำให้ฟุตาบะมาถึงจุดที่ต้องระบายเรื่องอัดอั้นใจทั้งหมดที่เคยเก็บกดเอาไว้ (Repression) ให้อีกฝ่ายฟัง… ฉากนี้สามารถอ่านเอนทรี่วิเคราะห์เนื้อเพลงควบคู่กันไปได้นะคะ 花咲か唄 (Hanasaka Uta, บทเพลงของดอกไม้ที่ผลิบาน)
“คาโอรุโกะ จำลำดับการสอบเข้าของฉันได้หรือเปล่า…”
“หา?”
“รับนักเรียนทั้งหมดสามสิบคน ฉันได้ที่สามสิบ… ที่โหล่เลยล่ะ!!”
“ละ แล้วเรื่องพรรค์นั้นมันเกี่ยวอะไร…”
“เพราะคาโอรุโกะบอกให้มาเรียนที่นี่ด้วยกัน ฉันถึงได้อ่านหนังสือสอบเข้าแทบตาย…”
“เพราะบอกว่าเดินไปโรงเรียนมันเหนื่อย ฉันถึงได้ไปสอบใบขับขี่มอเตอร์ไซค์มาให้!”
“มีปัญหาทีไรก็ชอบหนีหายไปอยู่เรื่อย แล้วฉันก็ต้องเป็นคนไปตามหาจนเจอทุกที”
“สัญญากันไว้แล้วไม่ใช่หรือไง…
ว่าเธอจะแสดงส่วนที่เปล่งประกายมากที่สุดในโลกให้ฉันเห็นก่อนใครเป็นคนแรก
เพราะงั้นฉันถึงได้ไล่ตามเธอมาตลอดไง!!!”
ไม่ได้โกรธที่พยายามแล้ว ‘ทำไม่ได้’ แต่โกรธที่แค่ทำอะไรพลาดไม่ได้ดั่งใจนิดหน่อยก็ถอดใจง่ายๆ มากกว่า
(ตอนดูสดรู้สึกซาบซึ้งมาก ตอนดูเพื่อเช็กเนื้อหาในเอนทรี่ครั้งล่าสุดก็สงสัยว่าเราดูอะไรอยู่นะ…)
การเปลี่ยนแปลงของตัวละครหลายๆ ตัวในซีรีส์นี้ได้รับผลกระทบแบบ ‘บัตเตอร์ฟรายเอฟเฟกต์’ จากการตัดสินใจเข้าร่วมเรวิวครั้งที่สองของฮิคาริค่ะ… เพราะฮิคาริกลับมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง คาเรนเลยเข้าไปพัวพันกับการออดิชันในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ได้ขัดเกลาทักษะที่หย่อนยานมาตลอด จนหลายๆ คนได้รับผลกระทบและคอยฝึกฝนตัวเองมากขึ้น เรื่องราวของฟุตาบะกับคาโอรุโกะเองก็เปลี่ยนแปลงไปจากที่นานะเคยเห็นด้วยค่ะ ถ้ามีโอกาสเขียนถึงฮิคาริไม่ก็นานะจะเขียนถึงประเด็นนี้ให้ละเอียดขึ้นล่ะ
“คาเรนก็บอกไม่ใช่เหรอ? เหล่านักแสดงต้องขัดเกลาตัวเองในทุกวัน”
“เพราะงั้น ทั้งเทนโด ทั้งคุโระ เลยไม่เคยหยุดทุ่มเทพยายามเพื่อบทนักแสดงนำ…
ทุกคนต่างก็ทำเพื่อขัดเกลาประกายแสงของตัวเองทั้งนั้น”
“ฉันเองก็ยังเป็นแฟนคลับของคาโอรุโกะอยู่นะ! ยังอยากเฝ้ามองแสงสว่างเคียงข้างเธอนะ คาโอรุโกะ!”
นะ นี่มันฉากสารภาพรัก
สุดท้ายเหมือนคำพูดพวกนั้นเรียกสติคาโอรุโกะกลับมา…
“ฟุตาบะฮัง… เติบโตเป็นดอกไม้ที่ผลิบานได้อย่างงดงามแล้วเนอะ”
“เทียบกับเราแล้ว…”
“เราเข้าใจสิ่งที่เทนโดฮังพูดช้าไปแล้วละมั้ง”
“บทเมนแคสต์… ฟุตาบะฮังอาจจะเหมาะกับมันมากกว่าเราก็ได้นะ”
เป็นฉากที่เจ้าตัวยกนางินาตะขึ้นมา ‘เหมือนจะ’ แกล้งยอมแพ้เพื่อพลิกสถานการณ์… ถ้าเป็นฉากเรวิวในละครเวที Revival #1 ช่วงที่คาโอรุโกะกำลังจะแพ้ฟุตาบะ เจ้าตัวบอกว่า
“คิดว่าที่ฟุตาบะฮังซ้อมคิวบู๊มาตลอดก็เพื่อจะปกป้องเราซะอีก”
“คิดว่ามีแค่ฟุตาบะฮังที่เป็นพวกเดียวกับเรา… แต่เราคงคิดผิดไปสินะ”
“ถ้าผ่านเราไป (ฟันผ้าคลุมทิ้ง) แล้วจะไปในที่ๆ สูงกว่าได้ละก็เชิญทำตามใจชอบได้เลย”
“คาโอรุโกะ…?”
“ขอโทษ… ที่เอาแต่ใจมาตลอดจนถึงตอนนี้นะ”
หลังจากนั้นฟุตาบะ (ที่ทำหน้าเจ็บปวดแบบหล่อๆ) ก็ตอบว่า “ไม่เอานะ” “ฉันทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก” มาคิดอีกทีก็เริ่มสะกิดใจว่าน้องแกล้งแพ้จริงๆ หรือเปล่า หรือถ้าฉากนั้นปฏิกิริยาฟุตาบะดูยินดีที่จะทอดทิ้งคาโอรุโกะเจ้าตัวจะมีโอกาสถอดใจจริงๆ แบบเดียวกับฉาก ‘เรวิวแห่งคำสัญญา’ ในอนิเม อ้างอิงในเนื้อเพลงจะมีท่อน “ฉันเชื่อไปทั้งใจว่าจะปกป้องฉันไปจนถึงที่สุด” ด้วย หัวข้อเรวิวเองก็เป็น ‘ความสิ้นหวัง จุดที่คาโอรุโกะอยู่ในสถานะที่รู้สึกว่าเชื่อมาตลอดมันผิด หรือโดนมองว่าตัวเองเป็นภาระ แล้วฉากถัดไปมันเป็นฉากที่คาโอรุโกะ (ที่ก้ำกึ่งระหว่างโล่งใจกับเสียใจ) หันหลังแล้วร้องไห้ล่ะค่ะ
“คาโอรุโกะ… ร้องไห้เหรอ?”
“อย่ามาพูดอะไรบ้าๆ นะ…!!”
“ในที่สุดก็มาห้ามกันสักทีนะ…”
“ขอบคุณนะ ฟุตาบะ”
ก่อนหน้านี้ฟุตาบะไม่เคย “ห้าม” คาโอรุโกะเลยค่ะ… อยากทำอะไรก็ทำ แค่จะคอยรับฟัง อยากหนีออกจากบ้าน อยากลาออกจากโรงเรียนกลับเกียวโต เลือกจะให้คาโอรุโกะทำที่ตัวเองต้องการ อะไรก็ได้ที่คาโอรุโกะมีความสุข (ความฝันของฟุตาบะในหน้าแนะนำตัวละครคือ ‘แค่คาโอรุโกะมีความสุขก็พอ’ ล่ะ…) พอพูดประโยคนั้นออกมา เจ้าตัวถึงได้รู้ว่า ‘ในที่สุดก็มาห้ามกันสักที’ นี้บางทีก็หมายถึงคอยดึงสติเวลาเถลไถลออกนอกเส้นทางด้วย
หลังจบเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างตัวละครในฉากเรวิวทั้งสองเวอร์ชัน ทำให้ทั้งฟุตาบะกับคาโอรุโกะมีพัฒนาในทางที่ดีขึ้นล่ะ ฟุตาบะเริ่มมี ‘เป้าหมายของตัวเอง’ ส่วนคาโอรุโกะก็เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับ ‘คำสัญญา’ ที่เคยหลงลืมไป พยายามทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้นด้วย ถือของเองได้แล้ว ออกไปซื้อของเองก็เป็นแล้ว แถมในบทพูดหน้าโฮมของสี่ดาวฟุตาบะใบเจ้าเหมียวรองเท้าบู้ทเจ้าตัวดีใจที่ตัวเองได้บทเมนแคสต์แล้วคาโอรุโกะดูจะคอยเชียร์อยู่ด้วย!
จากนี้ไปคงมีข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อยๆ จะรอติดตามทิศทางในการเติบโตของตัวละครจากสื่อต่างๆ ต่อไปล่ะค่ะ